คอลัมน์ "ด้วยสมองและสองมือ" คณะผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกันวางแผน นำทีมคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ร่วมกันสร้างกล่องป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย แทนการใช้วัสดุจาก PVC ซึ่งมีความคงทนและความปลอดภัยในการใช้งานค่อนข้างน้อย เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จ.สงขลา เพื่อใช้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ให้กับทีมแพทย์และพยาบาล รศ.จรูญ เจริญเนตรกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลสงขลา ทางโรงพยาบาลต้องการกล่องป้องกันเชื้อไวรัสกระจาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ต้องเปลี่ยนสายท่อหายใจสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เสนอแนวคิดแก่คณาจารย์ และบุคลากร เพื่อร่วมกันออกแบบและผลิตกล่องป้องกันเชื้อไวรัส โดยนำต้นแบบมาจากต่างประเทศ ก่อนจะมีการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ นายไกรวิทย์ ชูชาติ วิศวกรรมควบคุม สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมงานสร้างกล่องป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย ได้นำกล่องต้นแบบ ซึ่งผลิตจากแผ่นอะคริลิค ขนาดความหนา4มิล มีช่องสำหรับแพทย์และช่องสำหรับให้พยาบาลได้ทำงานร่วมกันได้ สามารถโยกย้าย ยกทำความสะอาดได้สะดวก น้ำหนักไม่เยอะเกินไป แต่หากขนาดของอะคริลิคบางกว่า 4 มิล ก็จะไม่มีความคงทนแข็งแรง สำหรับการตัดแผ่นอะคริลิคนั้นใช้เครื่องเลเซอร์ คัตติ้ง ในการตัดแผ่นอะคริลิค 1 ชิ้นส่วน ใช้เวลาในการตัด 5 นาที ขนาดของแผ่นอะคริลิคที่ได้จะตรงตามความต้องการ มีความสวยงาม ในการนำแต่ละชิ้นส่วนมาประกอบกันจะใช้น้ำยาประสานอะคริลิค ซึ่งมีความคงทน ติดแน่น ไม่รั่วซึม ก่อนที่จะทำการผลิตเพื่อนำไปใช้จริง ทางคณะผู้จัดทำได้ผลิตกล่องต้นแบบและได้นำไปทดลองลองใช้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลสงขลา โดยมีแพทย์และพยาบาลได้ทดลองใช้ และได้ข้อเสนอเพื่อนำกลับไปแก้ไขและพัฒนาให้ได้กล่องป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจายที่ได้มาตรฐานเหมาะสมกับการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้ทางผู้จัดทำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ผลิตกล่องป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจายเพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีความต้องการ เบื้องต้น ได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลบางแก้ว และยังเร่งผลิตเพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลพัทลุง และยังมีโรงพยาบาลที่ต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งกล่องป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย ใช้ต้นทุนประมาณ2,000บาท (เฉพาะแผ่นอะคริลิค) ใน 1 วัน จะผลิตได้ 2 กล่อง เนื่องจากต้องใช้ความละเอียดอย่างมากในการผลิต และเพื่อการนำไปใช้ที่ปลอดภัย ใช้งานได้จริงไม่ก่อให้เกิดความเสียงต่อบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล และในอนาคตอันใกล้นี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังมีแนวคิดในการออกแบบอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยกันต่อต้านโควิด-19 ต่อไป