นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า... “อย่าสู้โควิดแบบวิ่ง 100 เมตร” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้แนะวิธีสู้โควิดชัดเจนที่สุด ต้องคุมโรคเหมือนวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร ในการวิ่ง 100 เมตร รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลัง เพื่อจะให้สถานการณ์กลับไปเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด ทั้งด้านสาธารณสุข การทำมาหากิน ตลาดหุ้น แต่ถ้าไม่จบ หมดแรงข้าวต้ม จะล้มละลายทั้งชาวบ้าน ธุรกิจ และประเทศ ผู้ที่เรียกร้องให้รัฐบาลล็อคดาวน์แบบเข้ม เจ็บแล้วจบ มักจะกล่าวหาผู้ที่คัดค้านว่า ไม่ควรวางตำแหน่งเรื่องของเงิน ให้อยู่เหนือกว่าเรื่องของคน ซึ่งไม่เหมาะสม แต่ในข้อเท็จจริงนั้น เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ล้วนๆ ถ้าไม่มีมนุษย์ ก็ไม่จำเป็นต้องวางแผนเศรษฐกิจ ในการเจ็บป่วยทุกครั้ง จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง the disease กับ the cure :- สั่งยาแรงเกิน ถึงแม้ไม่ตายด้วยไข้ แต่จะตายด้วยยา หรือเปล่า? รักษาเว่อร์ ถึงแม้สุขภาพรอด แต่ทำเอาบ้านล้มละลาย หรือเปล่า? ถามว่า ทำไมโควิดจะยืดเยื้อ? เพราะโควิดแพร่ระบาดแบบล่องหน ล่องหนที่หนึ่งคือ ผู้ติดแพร่กระจายเชื้อตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ ต่างจากไข้หวัดปกติ และเมื่อแสดงอาการ ก็แพร่เชื้อต่อ ล่องหนที่สองคือ มีข้อศึกษาในจีนที่รายงานว่า ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งแพร่ไปสู่คนในครอบครัว 5 คน แต่ผู้ที่แพร่เชื้อคนนั้นไม่เคยแสดงอาการ และไม่รู้ว่าคนลักษณะนี้มีเท่าใด ไม่รู้ว่าเขาจะแพร่เชื้อไปได้นานเท่าใด ล่องหนที่สามคือ ข่าวข้างล่างที่ระบุว่า ผู้ป่วยที่ฟื้นตัว แม้อาการหายไปแล้ว ก็ยังอาจแพร่เชื้อไปได้อีกนานถึง 8 วัน ดังนั้น หลังจากคลายล็อคดาวน์แบบเข้ม การแพร่เชื้อแบบล่องหนก็อาจจะยังเกิดขึ้นได้ต่อไป ถึงแม้จะน้อยลง การจะทำล็อคดาวน์-เจ็บแล้วจบได้นั้น รัฐบาลจะต้องปูพรมทดสอบเชื้อโควิดไปตลอดช่วงล็อคดาวน์ และต้องปิดพรมแดน 100% ไปอีกนาน ปิดท่องเที่ยวไปอีก 12-18 เดือน รวมทั้งจะต้องปรับปรุงการควบคุมกักตัวให้เด็ดขาด เช่น ติดตามตัวประชาชนทุกย่างก้าวผ่าน location ในมือถือ โควิดได้ไปถึงประเทศในซีกโลกใต้ที่ฤดูกลับทางกับซีกโลกเหนือแล้ว ดังนั้น ในช่วงปลายปี ก็อาจจะวนกลับมาซีกโลกเหนืออีกครั้งหนึ่ง ถามว่า อะไรจะหยุดโควิดได้อย่างแท้จริง? ตอบว่า herd immunity กล่าวคือ เมื่อคนในโลกสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ มีจำนวนมาก เชื้อก็จะแพร่ยากขึ้น ไม่ต่างจากเชื้อไวรัสไข้หวัดอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องวางแผนเศรษฐกิจโควิดแบบมาราธอน ทั้งด้านชาวบ้าน และด้านธุรกิจ ทุกรัฐบาลต้องประคองช่วยชาวบ้านระยะหนึ่ง แต่ต้องไม่ยาวนานเกินไป เพราะธุรกิจจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอย่างเร็ว จึงควรวางแผนช่วยให้ชาวบ้านปรับตัวมากกว่า ธุรกิจที่มีศักยภาพจะฟื้นเร็วสุดคือธุรกิจปลีกย่อยของชาวบ้าน และอาหารการกิน โดยเฉพาะเมื่อการล็อคดาวน์ลามไปประเทศโน้นประเทศนี้ รัฐบาลจึงควรเปิดห้างและร้านค้าปลีกโดยเร็ว บังคับสวมหน้ากาก แต่ปิดกีฬาแออัดและบันเทิงไว้ก่อน รวมทั้งคงเคอร์ฟิวกลางคืนเพื่อลดการสุมหัวเอาไว้ก่อน ธุรกิจที่จะซบเซานานถึง 12-18 เดือน คือท่องเที่ยว โรงแรม การบิน แต่สำหรับอสังหาริมทรัพย์ใน sector ที่ล้นตลาด ที่พักตากอากาศหรูหรา คอนโดที่เล็งขายต่างชาติ นั้น เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะสามารถอุ้มให้ทุกรายคงธุรกิจได้ตามเดิม การช่วยสภาพคล่องจะแก้ได้เพียงระยะสั้น จึงควรปรับปรุงกระบวนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การเร่งยึดหลักประกันพร้อมกับ haircut ต้องอำนวยความสะดวกแก่การเคลียร์ oversupply ทั้งนี้ รัฐบาลต้องทำให้ท่องเที่ยวเป็นอนาคตหลักของประเทศ จึงควรใช้โอกาสนี้เตรียมการสำหรับฟื้นตัว เช่น จัดระเบียบความสะอาด มลภาวะ และการสร้าง story ของแต่ละชุมชน ธุรกิจที่ต้องทบทวนทั้งยวง คือ การลงทุนจากต่างประเทศเพื่อส่งออก ถึงแม้เป็นโมเดลที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จมาหลายสิบปี แต่โควิดจะทำให้ธุรกิจในตะวันตกคิดทบทวน เขาจะเริ่มขยาดต่อแหล่งผลิตสินค้าที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะสินค้าด้านสาธารณสุข การทุ่มเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจนั้น อันดับแรกรัฐบาลต้องใช้รักษาชีวิต คือต้องเสริมระบบสาธารณสุขให้พร้อมรับมือแบบมาราธอน และต้องใช้วิธีโยกงบประมาณให้เต็มที่ ก่อนที่จะกู้เงิน ในการกู้เงินนั้น รัฐบาลจะต้องคำนึงว่า ไม่มีของฟรี และผู้ที่ต้องใช้หนี้คือตัวเราเองและลูกหลาน (ข่าวรัฐบาลจะกู้ 1 ล้านล้านบาทข้างล่าง) จึงต้องทำอย่างพอดี และสำคัญที่สุด ใช้ไป 1 ต้องให้เกิดประโยชน์ 2 ในช่วงสงครามโลก การลงทุนสะดุดอยู่หลายปี ดังนั้น เมื่อสงครามยุติ มีการทุ่มเงินเข้าไปในเศรษฐกิจ ก็เกิดการลงทุนใหม่ เพิ่ม productivity ทันที การเศรษฐกิจหลังสงครามโลก คือการใช้เงินที่นำไปสู่การสร้าง capital goods ที่ผลิตสินค้าและบริการได้ดีขึ้น ทำอย่างนี้ คือใช้ไป 1 บาท ทำให้เกิดประโยชน์ 2 บาท แต่ในสงครามโควิด เดิมการลงทุนไม่ได้สะดุด เปรียบเทียบสภาพปัญหา เดิมมีผู้บริโภคอยู่ 10 คน ตายฉับพลัน 1 คน ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำ 1 คน หนีกลับไปกบดานที่ประเทศของเขา 2 คน ที่เหลือ 6 คน กระเป๋าแห้งไป 4-5 คน! ถ้ารัฐบาลง่วนอยู่แต่เอาเงินใส่กระเป๋า 4-5 คน โดยไม่ชี้นำให้เขาคิดอ่านเปลี่ยนวิถีชีวิต จะเข้าข่ายใช้ไป 1 บาท เกิดประโยชน์เพียง 1 บาท แต่มันชั่วคราวเท่านั้น ทุ่มสรรพกำลังแบบนี้ เมื่อถึงเส้น 100 เมตร ไม่ชนะเด็ดขาด ก็หมดแรงข้าวต้ม เมื่อประชาชนกลับหิวขึ้นมาอีก เราจะอยู่กันอย่างไร?