กรมชลประทาน แจ้งข่าวดีแก่ชาวอุตรดิตถ์ หลังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จเกือบ 100% คาดเริ่มเก็บกักน้ำได้ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ สมการรอคอยมากว่า 40 ปี หวังให้เป็นแหล่งน้ำแห่งใหม่แก่ชาวอุตรดิตถ์ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎร ที่อพยพลงมาจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อําเภอท่าปลา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 49,500 ไร่ มีสภาพภูมิประเทศสูงต่ำแตกต่างกันมาก ประกอบกับมีพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคจากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งน้ำมาจากเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านทางท่อซีเมนต์ใยหิน ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2529 ปัจจุบันมีสภาพชํารุดทรุดโทรม แตก และรั่วซึมอยู่เสมอ ส่งผลให้สูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้เพียง 5,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 50,000 ไร่ ทําให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง และไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีผลการดำเนินคืบหน้าใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยเตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนืออ่างฯ ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งหากโครงการฯแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ 74 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ให้กับพื้นที่รับประโยชน์กว่า 50,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ อยู่ในเขตอำเภอท่าปลา 5 ตำบล คือ ตำบลจริม ตำบลน้ำหมัน ตำบลหาดล้า ตำบลท่าปลา และตำบลร่วมจิต อยู่ในเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์อีก 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลวังดิน ตำบลบ้านด่าน ตำบลแสนตอ และตำบลหาดงิ้ว เป็นการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพที่ได้เสียสละที่ดิน เพื่อก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมานานกว่า 40 ปี ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำน่านได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ถึงแม้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ จะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ในช่วงฤดูแล้งนี้ก็สามารถส่งน้ำที่มีอยู่บริเวณหน้าเขื่อนไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ของอำเภอท่าปลาได้พอสมควร นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบอ่างฯ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถสร้างรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย