OR ฝ่าพิษ COVID-19 ยื่นไฟลิ่ง IPOขายหุ้นเพิ่มทุน 2,700 ล้านหุ้น-กรีนชู 300 ล้านหุ้น โดย ปตท.ยังถือหุ้นใหญ 75% ระดมทุนขยายปั๊มทั้งในและต่างประเทศ 5 ปี ลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า วันนี้ (2 เม.ย.) บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด ได้ยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) รวมถึงการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ร่างหนังสือชี้ชวน) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และพร้อมกันนี้ได้ยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัท แบ่งเป็นเสนอขายไม่เกิน 2,400 ล้านหุ้น ให้กับประชาชนทั่วไป และไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท.ตามสัดส่วนการถือหุ้น และจัดสรรไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อนำไปรองรับการใช้สิทธิ์จัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย (หากมีการใช้สิทธิ์) โดยมี บล.ฟินันซ่า ,บล.ภัทร ,บล.บัวหลวง ,บล.กสิกรไทย และ บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ปตท.ได้ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และการที่จะ IPO ก็ขึ้นกับสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ส่วนจะกระจายหุ้นได้เมื่อใดนั้น ปตท.และ OR ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นร่วมกับผู้จัดการการจัดจำหน่าย และจะแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยจะพิจารณาอย่างรอบด้าน รวมถึงหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นในธุรกรรม IPO อื่น ๆที่ใช้ในอดีต เพื่อพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และความเหมาะสม สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน IPO ของ OR ครั้งนี้ OR จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกินสำหรับการให้สิทธิ์ซื้อหุ้นส่วนเกิน) โดย OR จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท.เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อรักษาสิทธิ์ (Pre-emptive Rights) ทั้งนี้ หากมีความต้องการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนมากกว่าจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ OR เสนอขายทั้งหมด อาจมีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพิ่มเติมในจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) เพื่อการส่งคืนหุ้นที่ยืมจาก ปตท.ในการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (หากมี) ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OR นั้น ปตท.จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ OR โดยจะถือหุ้นของ OR ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 75% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของOR โดยวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้เงินในช่วงปี 2564-2567(งบฯลงทุนปี 63-67 ที่่ 7.74 หมื่นล้านบาท) เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ภายใต้แบรนด์ "ptt station" , การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ,การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน เพื่อสนับสนุนธุรกิจน้ำมัน ,การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาด ,การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ หรือใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม (ถ้ามี) ทั้งนี้ในปี 2562 OR มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันในประเทศประมาณ 40.5% ขณะที่มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันจำนวน 1,911 แห่ง และยังดำเนินธุรกิจศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto จำนวน 50 แห่ง นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำในตลาดพาณิชย์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศไทย โดยมีลูกค้าตลาดพาณิชย์มากกว่า 2,600 ราย นอกจากนี้ OR ยังเป็นผู้ค้าปลีกชั้นนำที่ดำเนินการร้านกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย โดยสิ้นปี 2562 มีร้านคาเฟ่อเมซอน 2,912 ร้าน ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆจำนวน 281 ร้าน ซึ่งจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ที่ได้รับสิทธิ์อนุญาตแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ได้แก่ "เท็กซัส ชิคเก้น" แบรนด์ที่ได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ได้แก่ "ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ" และแบรนด์ที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ "เพิร์ลลี่ ที" รวมถึงมีร้านสะดวกซื้อ 1,880 ร้าน ซึ่งจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าพื้นฐานที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ "จิฟฟี่" ที่บริษัทเป็นเจ้าของ และแบรนด์ "7-Eleven" ตามเงื่อนไขของสัญญาหลักความร่วมมือแต่เพียงผู้เดียวกับ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านร้านค้าที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการภายในเครือข่ายของบริษัทและยังมีการจำหน่ายที่ร้านค้านอกสถานีบริการด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการการบริหารจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย การให้บริการเช่าพื้นที่และบริการอื่นๆ ส่วนในต่างประเทศมีธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยสิ้นปี 2562 มีสถานีบริการน้ำมัน 302 แห่ง ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto 4 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอน 216 ร้าน และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 79 ร้าน (ไม่รวมร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 1 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นร้านที่ดำเนินการในช่วงทดลองตลาด) ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว คลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และคลังเก็บผลิตภัณฑ์อื่นๆจำนวนทั้งหมด 70 แห่ง แบ่งเป็น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ 53 แห่งในประเทศไทย และคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 17 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเครือข่ายการจัดเก็บและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั้งทางท่อขนส่ง ทางเรือ ทางรถ และทางรถไฟ ขณะที่โครงการในอนาคต OR มีแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติสำหรับปี 2563-2567 เป็นจำนวนรวมประมาณ 77,413.3 ล้านบาท โดยมีการขยายงานสำคัญ ได้แก่ การขยายเครือขายสถานีบริการน้ำมัน วางเป้าหมายจะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่จำนวนประมาณ 137 แห่ง/ปี สำหรับการขยายธุรกิจ และตั้งใจที่จะรักษาสัดส่วนระหว่างสถานีบริการน้ำมันประเภทดีลเลอร์หรือ DODO ต่อสถานีบริการน้ำมันประเภทที่บริษัทเป็นเจ้าของเองหรือ COCO ในประเทศให้อยู่ที่สัดส่วนประมาณ 80:20 สำหรับการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาดปี 2563-2567 บริษัทมีแผนจะเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนจำนวนประมาณ 437 แห่ง/ปี โดยในการขยายธุรกิจ บริษัทตั้งใจที่จะรักษาสัดส่วนระหว่างร้านคาเฟ่อเมซอนที่เป็นร้านค้าแฟรนไชส์ ต่อร้านคาเฟ่อเมซอนประเภท COCO เป็นสัดส่วนประมาณ 80:20 สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆมีแผนจะเปิดร้านอาหารเท็กซัส ชิคเก้น จำนวนประมาณ 40 แห่ง/ปี โดยหลักจะเป็นการเปิดร้านอาหารประเภท COCO และร้านอาหารฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ จำนวน 35 แห่ง/ปี มีสัดส่วนระหว่างการเปิดร้านอาหารฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำที่เป็นร้านค้าแฟรนไชส์ต่อร้านอาหารฮั่วเซ่งฮงติ่มซำประเภท COCO ในสัดส่วนประมาณ 17:83 นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven รวมถึงมีแผนจะขยายธุรกิจการบริหารจัดการพื้นที่ของบริษัท ตลอดจนมีแผนที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ โดยการนำเสนอแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอาจรวมถึงการลงทุนในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เป็นต้น ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ในช่วงปี 2563-2567 บริษัทมีแผนจะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ในต่างประเทศจำนวนประมาณ 71 แห่ง/ปี ในการขยายธุรกิจ บริษัทคาดว่าจะรักษาสัดส่วนระหว่างสถานีบริการน้ำมันประเภท DODO ต่อสถานีบริการน้ำมันประเภท COCO เป็นสัดส่วนประมาณ 80:20 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมที่คาดการณ์ไว้สำหรับสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 530 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีการวางแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุนไว้ 670 ล้านบาท/ปี เพื่อการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกในต่างประเทศ และบริษัทมีแผนค่าใช้จ่ายในการลงทุน รวมถึงการลงทุนใหม่ประเทศเมียนมาและเวียดนาม