“ไข่ไก่” กลายเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจหลังจากเกิดภาวะไข่ไก่ขาดตลาด คนหาซื้อไข่ไม่ได้และราคาปรับสูงขึ้น ด้วยคนวิตกเรื่องพรก.ฉุกเฉิน เลยเริ่มเก็บตุนข้าวสารอาหารแห้ง และไข่ไก่ที่ราคาถูกสุดและเก็บไว้ได้นานกว่าโปรตีนชนิดอื่น เลยเห็นภาพคนพากันซื้อไข่ไก่แบบยกแผง ซึ่งไม่ใช่ครอบครัวละแผงแต่คือทุกคนในครอบครัวยกคนละ 2-3 แผง ซ้ำร้ายยังมีพ่อค้าคนกลาง ยี่ปั้ว ซาปั้ว รวมถึงพ่อค้าปลีกหัวหมอ เห็นกระแสนี้เลยอยากรวยทางลัด ด้วยการกว้านซื้อไข่ไก่เก็บตุนไว้ หวังจะปล่อยของตอนราคาแพงจัดๆและคนหาซื้อไม่ได้ ทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้ความต้องการไข่ไก่สูงขึ้นไป 3-5 เท่าของภาวะปกติ จนกลายเป็นดีมานด์เทียม ส่งผลให้ผลผลิตขาดตลาดอย่างกะทันหัน จนสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดไข่ไก่ เรื่องนี้คนได้ประโยชน์จึงไม่ใช่เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต เพราะยังคงต้องขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.80-3.00 บาทต่อฟอง ตามที่ได้ตกลงไว้กับกระทรวงพาณิชย์ และขายตามราคาแนะนำจากสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ที่จะประกาศ “ราคากลาง” เพื่อใช้อ้างอิงในขาย ณ ช่วงเวลานั้นๆ ทั้งนี้ นายสังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ ได้วิเคราะห์ว่า บางคนอาจมีคำถามว่าทำไมจากราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 3 บาท แล้วตอนถึงมือผู้บริโภคราคาจึงเพิ่มขึ้น ตรงนี้ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าไข่ไก่ 1 ฟองกว่าจะมาถึงแผงไข่หรือร้านค้านั้นมีกระบวนการและคนกลางหลายขั้น เริ่มจากเกษตกรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม โดยผู้รวบรวมไข่รายใหญ่ หรือล้งไข่ เป็นคนรับซื้อไข่จากเกษตรกร แบบเหมาหมด จากนั้นจะนำไข่ที่ได้มาแยกเอาไข่บุบ ร้าว แตกออก ซึ่งไข่บุบ-ร้าวจะยังคงขายเป็นไข่แผงในราคาต่ำ ส่วนไข่แตกจะตอกใส่ถุงแบ่งขายปลีก แล้วจึงนำเฉพาะไข่ที่สมบูรณ์มาคัดขนาดเป็นไซส์จัมโบ้-0-1-2-3-4-5-6 ส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าแรงกับค่าขนส่งจากฟาร์มมาล้ง และในล้งต้องมีค่าใช้จ่ายการคัด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าถาดไข่ และค่าเสียหายระหว่างคัดจากการบุบแตกของไข่อีก จากนั้นจึงขนไปยังล้งที่ 2 ซึ่งตรงนี้จะมีค่าขนส่งและมีค่าแรงการขนเกิดขึ้นอีกครั้ง สำหรับล้งไข่ลำดับที่ 2 ซึ่งอาจเป็นร้านขายใหญ่ ที่เป็นผู้กระจายไข่ในพื้นที่ ส่วนนี้จะเป็นแบบซื้อมาขายไป แล้วจึงไปถึงผู้ค้าไข่ที่รับไข่ครั้งละมากๆเช่น 100-200 แผง เพื่อไปขายต่อให้กับ แม่ค้าปลีกในตลาดหรือร้านค้าย่อยที่รับไข่มาขายครั้งละ 10-20 แผง เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งหมดนี้ทำให้ราคาไข่ไก่จากหน้าฟาร์มเมื่อมาถึงผู้บริโภคจึงที่ราคาเพิ่มขึ้นจากค่าดำเนินการนั่นเอง เมื่อเจาะลึกถึงการผลิตไข่ไก่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553-2562 จะพบว่าประเทศไทยมีแม่ไก่ยืนกรงที่ให้ผลผลิตอยู่ที่ 39.42-57.22 ล้านตัว ไม่เคยเกินกว่านี้ โดยมีต้นทุนเฉลี่ยฟองละ 2.42-2.99 บาท มากน้อยขึ้นกับสถานการณ์ในปีนั้นๆ ส่วนสถิติราคาไข่ไก่ย้อนหลัง พบว่าไข่ไก่คละหน้าฟาร์มมีราคาเฉลี่ยต่ำกว่าต้นทุนมาตลอด โดยปี 2557 ขาดทุน 0.12 บาทต่อฟอง ปี 2558 ขาดทุน 0.14 บาทต่อฟอง ปี 2559 เกษตรกรพอมีกำไรอยู่ที่ 0.06 บาทต่อฟอง ปี 2560 ขาดทุน 0.21 บาทต่อฟอง ปี 2561 ขาดทุน 0.30 ต่อฟอง ภาวะผลผลิตล้นตลาด (Oversupply) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปี 2561 ทำให้ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board)” ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ สมาคมฯไข่ และภาคเอกชน ที่ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของอุตสาหกรรมไข่ ต้องเร่งหามาตรการปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ อาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไข่ไก่ เป็นผลให้ราคาขายอยู่เหนือต้นทุนแค่ทำให้เกษตรกรพอมีเงินจ่ายหนี้สะสมกับต่อลมหายใจในอาชีพเลี้ยงไก่เท่านั้น การขึ้นลงของราคาไข่ในช่วงนี้เป็นไปตามกลไกตลาด จากปริมาณสินค้าที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคมากขึ้นอย่างฉับพลันจากความตื่นตระหนกของผู้บริโภค จึงอยากให้เข้าใจถึงภาวะตลาดที่เป็นอยู่ ไม่โทษหรือโยนความผิดให้เกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี อย่างที่บางคนชวนให้เลิกกินไข่เพียงเพราะราคาขยับขึ้น นั่นเท่ากับเป็นการทำร้ายเกษตรกรผู้ที่ต้องมารับเคราะห์จากปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อ