"ศบค. เผย ไทยผลิตชุดตรวจเชื้อเองได้แล้ว พร้อมมีมติชะลอเดินทางเข้าไทยถึง 15 เม.ย. ขณะที่ "ผบ.ทสส." เข้มลดการสัญจรมากกว่านี้ เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 2 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า วันนี้ (2 เม.ย.) มีการประชุม ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยมีข่าวดีสำหรับประเทศไทย คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้แทนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้มอบชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด -19 ให้รัฐบาลจำนวน 2 หมื่นชุดแรก และจะทยอยส่งมอบให้รัฐบาลจนครบ 1 แสนชุดภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะกระจายให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเมื่อก่อนเราต้องสั่งซื้อชุดละ 4,500 บาท แต่ตอนนี้เราผลิตได้เอง ทำให้เหลือราคาชุดละ 1,500 บาท เป็นการประหยัดงบประมาณได้มาก นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก มียอดสะสม 934,668 ราย เสียชีวิต 47,181 ราย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 104 ราย ยอดสะสม 1,875 ราย หายป่วยแล้ว 505 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 15 ราย ในส่วนของผู้เสียชีวิตรายใหม่ รายแรกคือ ผู้ป่วยชาย 57 ปี มีประวัติเดินทางมาจากปากีสถานในวันที่ 29 มี.ค. และเดินทางด้วยรถไฟไปสุโหงโกลกในวันที่ 30 มี.ค. และเสียชีวิตบนรถไฟที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 31 มี.ค. ตรวจสอบแล้วมีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงด้วย รายที่สอง ชายไทยอายุ 77 ปี มีโรคถุงลมโป่งพอง เบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาตัวในโรงพยาบาลปัตตานี กระทั่งอาการแย่ลงและเสียชีวิตลงในวันที่ 31 มี.ค. และรายที่สาม เป็นชายไทยอายุ 55 ปี อาชีพขับรถสาธารณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่าขับรถไป จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. และกลับ กทม.วันที่ 16 มี.ค. จากนั้นวันที่ 18 มี.ค. มีอาการไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย และเข้ารักษาตัวที่คลินิกวันที่ 20 มี.ค. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน กทม.วันที่ 29 มี.ค. และเสียชีวิตในวันที่ 1 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 104 รายนั้น พบว่า กลุ่มแรกมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วย 60 ราย กลุ่มสองจำนวน 36 ราย มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สัมผัสผู้ป่วย อยู่ในพื้นที่แออัด และเป็นบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งในกลุ่มที่สองนี้นายกฯให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อมโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ ที่ประชุม ศบค.จึงมีมติให้ชะลอการเดินทางของคนไทยและคนต่างชาติที่จะเข้าประเทศตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 เม.ย. ยกเว้นกลุ่มคนที่ขออนุญาตไว้ก่อนแล้ว เพราะเสี่ยงที่จะทำให้คนในชาติติดเชื้อ จึงเป็นบทเรียนเอามาปรับใช้ โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะทำข้อมูลเพื่อไปแจ้งต่อประชาชน ส่วนคนที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางกลับ ให้ติดต่อสถานทูตนั้นๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเข้มงวดที่สุด ส่วนนักเรียนไทยในมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส) นายกฯมีความห่วงใยคนไทยทุกคนในต่างประเทศ ซึ่งปลัด กต.ยังสามารถติดตามได้ทุกคน หากมีอะไรให้ผู้ปกครองติดต่อ กต. หรือหากนักเรียนมีความสงสัยว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ติดต่อสถานกงสุลในแต่ละเมือง เราขอให้เลื่อนการเดินทางออกไปช้าหน่อย เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นค่อยเดินทางมา ขอให้ทุกคนอยู่ในที่ตั้ง อยู่กับที่ปลอดภัยที่สุด เพราะการเดินทางก็มีความเสี่ยง ถ้าท่านไม่ได้มีความเร่งรีบ ขอให้ชะลอการเดินทางไว้ก่อน ทำอย่างที่ผู้นำบอก เราจะได้ผ่านพ้นไปด้วยกัน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อใน กทม.และนนทบุรี มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดมีตัวเลขเพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นนี้ต้องหาสาเหตุต่อไป โดยนายกฯมีความห่วงใยว่าเมื่อไรตัวเลขผู้ติดเชื้อจะคงที่ หรือลดลงกว่าเดิม แม้ใน กทม.และนนทบุรีจะดีกว่าเมื่อก่อน แต่ยังดีไม่พอ ยังเป็นระดับร้อยอยู่ นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจประชาชน 77 จังหวัด จำนวน 1.4 แสนคน ผ่านระบบออนไลน์ เรื่องมาตรการป้องกันตัวเอง พบว่า ใส่หน้ากากอนามัย 94.03% ล้างมือบ่อย 90.47% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราต้องการ แต่ข้อที่น่ากังวลคือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร มีเพียง 64.81% เท่านั้น เราเป็นห่วงและอยากให้ช่วยตรงนี้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูล มาตรการ แก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ระบุว่า จากการสำรวจการเดินทางของประชาชนในวันธรรมดาลดลง 20-30% ซึ่งไม่น่าพอใจ จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ผู้ประกอบการ ให้พิจารณาปรับปรุงการทำงานเพื่อให้ลูกจ้างลดการเดินทาง หรือลดความแออัด เพิ่มระยะห่าง ถ้ายังเปิดโรงงานและสถานประกอบการอยู่แน่นอนว่าจะมีความเสี่ยงที่ท่านต้องจัดการ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกฯได้กำชับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ร่วมมือกันดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งบางพื้นที่ยังมีการเล่นการพนัน จึงต้องจับให้ได้ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง คนทำไม่ดีต้องถูกลงโทษ และกรณี อสม.ไปขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามข้อบังคับอาจได้ความร่วมมือระดับหนึ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ไปร่วมกับ อสม.ด้วย จะได้ความร่วมมือมากขึ้น เพื่อไปเตือนคนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และให้เกิดการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่ออย่างเข้มข้น เมื่อถามว่า จะมีการเพิ่มมาตรการอย่างไร หลังมีผู้เสียชีวิตที่มาจากปากีสถาน ซึ่งผ่านมาตรการคัดกรองที่สนามบินมา นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเดินทางก็ต้องขออนุญาตตามขั้นตอน คือ กักตัวที่ประเทศต้นทาง 14 วัน มีใบรับรองแพทย์ ก่อนขึ้นเครื่องต้องตรวจอุณหภูมิ หลังลงเครื่องก็ต้องคัดกรองที่สนามบินอีก เราทำมาตลอด แต่มีข้อหละหลวมมากมาย เช่น การกักตัวที่ประเทศต้นทางก็ยากจะดูแล ระหว่างทางมีการกินยาลดไข้ จึงเป็นที่มาของมาตรการชะลอหรือหยุดการเข้ามาประเทศไทย ซึ่ง กต.จะทำมาตรการให้เข้มข้นขึ้นมาอีก เพื่อลดการเจ็บป่วยและการสูญเสีย เมื่อถามว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ รัฐมีการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างไรบ้าง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการพูดกันในที่ประชุมนานพอสมควร ซึ่งนายกฯ สั่งการให้มีการคาดการณ์ปริมาณไว้เลยว่าจะต้องใช้เท่าไร ให้สมมุติตัวเลขขึ้นมา จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยนายกฯได้ตั้งงบประมาณในการจัดหาหน้ากาก N95 จำนวน 6 หมื่นชิ้นต่อวัน แต่ขณะนี้หน้ากากดังกล่าวเป็นที่ต้องการของทั่วโลก การสั่งซื้อจากบริษัท 3M ก็ส่งมาให้เราไม่เพียงพอตามที่มีการตกลงกันไว้ ส่วนจีนที่เราสั่งซื้อไป 2 ล้านชิ้น ก็ผลิตไม่ทัน เพียงแต่ส่งมาบ้างบางส่วน ดังนั้น ที่เราตั้งงบประมาณไว้ 6 หมื่นชิ้นต่อวันจะทำให้ดีที่สุด และจากเดิมที่จะใช้ครั้งเดียวนั้น ตอนนี้กำลังคิดวิธีนำมาใช้ซ้ำให้ได้ 3 ครั้งด้วยวิธีทำความสะอาด อยู่ระหว่างการพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ สำหรับยาที่ต้องใช้รักษาสต็อกไว้ 5 หมื่นเม็ด สั่งญี่ปุ่น 4 หมื่นเม็ด และวันที่ 12 เม.ย. จะรับจากจีนอีก 1 แสนเม็ด นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษก กต.กล่าวว่า การชะลอการเดินทางเข้าประเทศเป็นการจับมือร่วมกันเพื่อชะลอการแพร่ระบาดจากคนที่เดินทางเข้ามา ส่วนเรื่องนักเรียนเอเอฟเอส กต.จะประสานกับเอเอฟเอสให้มีการเดินทางอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ