วันที่ 2 เม.ย. 63 มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ เปิดเผยว่า หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่ จ.นนทบุรีเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 63 จำนวน 37 แห่ง ไปแล้วเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และยังมีสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคระบาด ในส่วนของสำนักงานป.ป.ช. ซึ่งตั้งอยู่ที่ ‬อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ได้ปรับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้เข้มขึ้นตามสถานการณ์            โดยมีรายงานว่านายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แจ้งถึงผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารของสำนักงานป.ป.ช. โดยระบุว่า ขณะนี้ ปรากฏว่ามีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน มีที่พักและได้พักอาศัยอยู่ในอาคารเดียวกันกับบุคคลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงมีมาตรการ 2 ข้อ คือ 1. กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ที่พักอาศัยในอาคารเดียวกับบุคคลที่ได้รับการตรวจและได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่าบุคคลนั้นติดเชื้อโควิด-19 ให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้นั้น หยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน และ 2.กรณี ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฎิบัติงานใกล้ชิดกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันดังกล่าวข้างต้น (ตามข้อ1)ให้ ผู้นั้นหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 5 วัน อย่างไรก็ตามสำนักงานป.ป.ช.ภาค และสำนักงานป.ป.ช.จังหวัด ขอให้นำมาตรการป้องกันและควบคุมดังกล่าวไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย           ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ต้องหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันนั้น มีจำนวน 17 ราย แต่ผู้ที่ต้องหยุดพักกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 5 วันนั้น ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ แต่คาดว่ามีจำนวนมากถึง 200 - 300 คน โดยประเมินจากการสอบสวนโรค 1 รายใน 17 รายนั้น มี ผู้ร่วมงานหรือผู้ใกล้ชิด ประมาณ 15-20 คน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้บริหารระดับสูงต้องถูกกักตัวด้วย และผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ป.ป.ช.เพิ่มมาตรการเข้มข้นมากขึ้น โดยล่าสุดการจัดประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาคดีต่างๆ ที่มีขึ้น 3 วันต่อสัปดาห์นั้น เปลี่ยนรูปแบบเป็นให้จัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้น และแยกห้องประชุม ระหว่างคณะกรรมการป.ป.ช. ทั้ง 7 คน กับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้ารายงานคดี โดยจัดให้อยู่ห้องประชุมคนละชั้นกัน ชั้น 3 กับ ชั้น 4 ในอาคาร1 ของสำนักงานป.ป.ช. และให้ทุกคนยึดมาตรฐานการป้องกันโรคโควิด-19 ตามกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันยังมีการรณรงค์ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกสำนัก ร่วมทำกิจกรรม 5 ส. สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย เพื่อช่วยดูแลรักษาความสะอาดความเป็นระเบียบของสถานที่ทำงาน เพื่อหยุด การแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วย