“มนัญญา" จัดหนัก!! ส่งแพ็กเกจใหญ่ อุ้มสมาชิกสหกรณ์ทั้งระบบ ทั่วประเทศ กว่า5.79 ล้านคน เยียวยาผลกระทบพิษโควิด-19 พักชำระหนี้ 6 เดือน ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 รวมมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท เพิ่มเงินสภาพคล่องในครัวเรือน รายละกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน เมื่อวันที่ 2 เม.ย. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเพื่อผ่อนปรนภาระหนี้สินของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ว่า มีความห่วงใยสหกรณ์ทั่วประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งสหกรณ์เดินรถ 230 แห่ง สมาชิกกว่า 1.207 แสนราย มีการให้กู้ยืมแก่สมาชิกรวม 1.4 พันล้านบาท ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาคท่องเที่ยว โดยสั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าไปดูแลโดยเร็ว ทั้งนี้ภาพรวมผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตร การปิดกิจการชั่วคราว การลดเงินเดือน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบันมีสหกรณ์ 6,579 แห่ง สมาชิกกว่า11ล้านคน แบ่งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 3,453 แห่ง สมาชิกกู้ยืมประกอบอาชีพ 1.035ล้านคน จำนวนเงิน 178,473.04 ล้านบาท ส่วนสหกรณ์นอกภาคเกษตร(ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน บริการ และร้านค้า) จำนวน 3,126 แห่ง มีสหกรณ์ได้รับผลกระทบ 600 แห่ง เป็นสหกรณ์ออมทรัย์ในสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจ จำนวนสมาชิก 188,700 ราย วงเงินกู้ 122,807 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่คาดว่าได้รับผลกระทบ มีจำนวน 36 แห่ง สมาชิก 36,500 ราย วงเงินกู้ 600 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ใช้เป็นแนวทางบรรเทาภาวะหนี้สินของสมาชิก พร้อมกับส่งหนังสือถึงผู้ราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้บังคับบัญชาหน่วยงานราชการในระดับจังหวัด เพื่อให้ดำเนินมาตรการและแนวทางปฏิบัติตามนโยบายที่ออกมา โดยขอความร่วมมือสหกรณ์ผ่อนผันการชำระหนี้ให้กับสมาชิก เช่น ขยายเวลาการชำระหนี้ ออกไปอีก 6 เดือน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ร้อยละ 50 สตางค์ ถึง1บาท มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในส่วนที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธกส.)โดยขอขยายเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี และ ส่วนการชำระค่าหุ้นของสมาชิก ขอให้ปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือน จนกว่าสถานการณ์กลับสู่ปกติ “มาตรการขยายเวลาชำระหนี้ หรือพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ถึง 30 ต.ค.จะช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับสหกรณ์ และสมาชิก รวมทั้งชำระหนี้กองทุนสหกรณ์ ของกลุ่มสหกรณ์ ได้ถึง 28 ก.พ.64 มีเงินกลับไปใช้จ่ายสมาชิก 5.79 ล้านคน ของสหกรณ์การเกษตรและนอกภาคเกษตร จำนวน 2,660 แห่ง ต้นเงินกู้ 1,296,843.76 ล้านบาท มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ร้อยละ 0.50 คิดเป็นมูลค่า 6,480 ล้านบาท และมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้แก่สมาชิก 704.98 ล้านบาท ซึ่งทุกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิก ก้าวผ่านเวลาอันยากลำบากนี้ได้ โดยมีสหกรณ์ 60% ที่คาดว่าจะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง“น.ส.มนัญญา กล่าว สำหรับมาตรการรองรับเกษตรกร ให้มีรายได้ในช่วงนี้โดยมีเป้าหมายประเทศไทยเป็นครัวโลก โดยจ.อุทัยธานี ได้นำร่อง ไปแล้ว ซึ่งจะลงไปดูสัปดาห์นี้ มีการส่งเสริมเกษตรกรปลูกผัก เกาะเทโพ เมื่อได้ผลผลิตจะนำไปแลกกับเมล็ดพันธุ์ ซึ่งกำลังดำเนินกับโรงทาน วัดท่าซุง ต่อไปเพื่อสู่การแลกเปลี่ยน จะดำเนินการ 10 จังหวัด ส่งเข้ากรุงเทพฯด้วย ได้ประสานกันเพื่อดูแลครัวของแต่ละจังหวัด ให้ประชาชนได้บริโภคสิ่งที่มีคุณค่ากับร่างกาย สุขภาพแข็งแรง ต่อสู้โรคโควิด ไปด้วยกัน สำหรับมาตรการกระจายผลไม้ ออกนอกแหล่งผลิต ได้เตรียมงบไว้45ล้านบาท ช่วยเกษตรกรในเรื่องการขนส่ง มังคุด ลำไย ที่จะมีผลผลิตประมาณ 1.8 หมื่นตัน โดยให้สหกรณ์ใช้งบจัดซื้อตะกร้าบรรจุ ส่งถึงมือผู้บริโภคทุกอำเภอ ตำบล ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่าสมาชิกสหกรณ์จะมีเงินเหลือจากการที่สหกรณ์ขยายระยะเวลาชำระหนี้หรือพักหนี้เป็นการชั่วคราว และลดดอกเบี้ยเงินกู้ เฉลี่ยรายละ 19,720 บาท ต่อเดือน จากการปรับลดค่าหุ้นรายเดือนหรืองดส่งค่าหุ้นตามส่วนเงินกู้ อีกเดือนละประมาณ 430 บาท รวมเฉลี่ยเดือนละ 20,150 บาท สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์การบินไทย มีเหตุการณ์สมาชิก ตกใจช่วงแรกที่โรคโควิดระบาดได้ถอนเงิน ตอนนี้ชะลอการถอนแล้ว ซึ่งสมาชิกมั่นใจสถานะการเงินของสหกรณ์ยังอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงมาก รวมทั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยังไปต่อได้ จากการขายสินทรัพย์ มีรายได้นำมาบริหาร