เกษตรกรท้ายเขื่อนลำปาวปลื้ม!! กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำหมุนเวียนน้ำในระดับแปลงนา เหลื่อมเวลาเพาะปลูกข้าวนาปรัง 62/63 ส่งผลให้ทำนาปรังได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมเดินหน้าวางแผนรับมือฤดูฝนที่จะมาเยือนอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า ปัจจุบัน (2 เม.ย.63) เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 796 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ (ความจุอ่างฯสูงสุด 1,980 ล้าน ลบ.ม.) มีน้ำใช้การได้ประมาณ 696 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 4 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ประกาศหยุดส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 พร้อมแจ้งแผนการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 โดยจะทยอยลดการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 13–22 เมษายน 2563 จากนั้นจะปิดการส่งน้ำ เพื่อดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงคลอง และอาคารชลประทาน สำหรับเตรียมพร้อมให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในฤดูช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และคาดว่าระเริ่มส่งน้ำในฤดูฝนหน้า ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับเขื่อนลำปาวนั้น ได้รับประโยชน์จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ที่พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานฝั่งตะวันออกในช่วงเดือนกันยายน 2562 ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำลำปาว ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นถึง 1,742 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของความจุอ่างฯ ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว สามารถวางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 62/63 ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการทำนาปรังของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน ถึงกระนั้นโครงการฯลำปาว ยังคงบริหารจัดการน้ำด้วยมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพื่อให้มีปริมาณสำรองไว้ใช้ในอนาคต หากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเหลือจากแผนฯที่วางไว้ ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 มากถึง 124 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ โครงการฯลำปาว ยังได้บริหารจัดการน้ำที่เกษตรกรระบายออกมาจากแปลงนา เพื่อรอการเก็บเกี่ยวข้าว ด้วยการนำไปเก็บกักไว้บริเวณด้านเหนือของเขื่อนทดน้ำที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำชีตอนล่าง อาทิ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ส่งผลให้เขื่อนทั้ง 3 แห่งนี้ มีปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำทำการเกษตรแบบหมุนเวียนโดยการเหลื่อมเวลาเพาะปลูก ส่งผลให้มีความมั่นคงด้านน้ำในการอุปโภคบริโภคไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เกษตรกรทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำชีตอนล่าง มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้