ฝนหลวงฯ ปรับฐานปฏิบัติการ ติดตามสภาพอากาศทำฝนช่วยภัยแล้ง และคลี่คลายหมอกควันไฟป่า พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เมื่อวันที่ 1 เม.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มี 11 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่และพิษณุโลก ภาคกลาง จากเดิมหน่วยฯ จ.นครสวรรค์ ย้ายไปประจำการที่ จ.ลพบุรี เนื่องจากขณะนี้ลมเริ่มเปลี่ยนทิศและมีหลายพื้นที่มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงปรับการปฏิบัติการเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด และจากเดิมหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ย้ายไปใช้สนามบินชั่วคราวที่ จ.ราชบุรี เนื่องจากสนามบินค่ายสุรสีห์ยังอยู่ในระหว่างการฝึกรบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ จากเดิมหน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ย้ายไปประจำการที่จ.นครราชสีมา ภาคตะวันออก จากเดิมหน่วยฯ จ.ระยอง ย้ายไปประจำการที่ จ.จันทบุรี และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยทั้ง 11 หน่วยฯ จะมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในการช่วยจะคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งของพื้นที่การเกษตร การเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำลำคลอง ที่มีปริมาณน้ำน้อยอยู่ ณ ขณะนี้ รวมถึงการช่วยบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนช่วยบรรเทาสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพายุลูกเห็บที่อาจส่งผลกระทบเกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนของประชาชน ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้ร่วมกับเหล่าทัพ กองทัพอากาศและกองทัพบก ในการปฏิบัติการฝนหลวงลดความความรุนแรงของภัยพิบัติต่างๆ โดยน้อมนำตำราฝนหลวงพระราชทานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงคิดค้นและมอบเป็นมรดกให้กับชาวไทย มาใช้ปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา ด้านสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่กำลังมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยรัฐบาลจึงได้มีนโยบายขอความร่วมมือจากประชาชน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและภูมิภาค ได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของรัฐบาล ทั้งนี้ ขอส่งกำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ด้วย สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวานนี้ (31 มี.ค.63) ไม่มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ มีค่าต่ำกว่า 60% ทำให้กลุ่มเมฆในพื้นที่เป้าหมายไม่พัฒนาตัว อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยปฏิบัติการฯ จะติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย จะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 1 เมษายน 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 23 จังหวัด 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 183 แห่ง สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) จากดาวเทียม ระบบ MODIS ในประเทศไทยพบว่ามีจำนวน 317 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีเกณฑ์ค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกณฑ์ค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพอากาศปานกลางบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่ภาคกลาง มีเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลางถึงดี ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเกณฑ์คุณภาพอากาศดีถึงดีมาก และคุณภาพอากาศปานกลางบางพื้นที่ ด้านแผนที่ปริมาณน้ำฝนสะสม 1 สัปดาห์ (25-31 มี.ค.63) พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ในระดับ 10-25 มิลลิเมตร ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่า มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 90% (ราษีไศล) 74% (พิมาย) 61% (บ้านผือ) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 63% (ราษีไศล) 47% (พิมาย) 39% (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.8 (ราษีไศล) -2.2 (พิมาย) -1.2 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 7 กม./ชม. (ราษีไศล) 13 กม./ชม. (พิมาย) 13 กม./ชม. (บ้านผือ) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบว่า ในช่วงเช้าสภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไปทันที ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร