กรมธุรกิจพลังงานเผยยอดใช้น้ำมัน 2 เดือนแรกปี63 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เผยเป็นปรับลดของดีเซล LPG NGV และน้ำมันอากาศยานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดบินของสายการบินหลังโควิด-19พ่นพิษ เว้นกลุ่มเบนซินเพิ่ม 0.3% โตสวนกระแส ยอดใช้อี 20 พุ่งจากราคาต่ำ น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 5.3% โดยกลุ่มดีเซล ลดลง 2.0% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 4.4% น้ำมันเตา ลดลง 33.8% น้ำมันก๊าด ลดลง 9.2% ส่วนก๊าซปิโตรเลียมหลว (LPG) ลดลง 12.9% และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง 12.6% ยกเว้นกลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 0.3% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 31.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 0.3% โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 30.95 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 1.1% ขณะที่น้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 22.2% สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่า แก๊สโซฮอล์ E20 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 6.7 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 7.9% เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.01 บาท/ลิตร รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 14.1 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 3.5% เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาใกล้เคียงกันโดยมีส่วนต่างเพียง 0.27 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 9.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.2% และ แก๊สโซฮอล์ E85 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 3.6% ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 2.5% โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 53.4 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 18.9% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.62) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือนก.ค.61) โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วดังกล่าวอยู่ในการปรับเปลี่ยนตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศและใช้มาตรการราคาเป็นกลไกผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 20.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน คิดเป็น 4.4% เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.8 ล้านกิโลกรัม (กก.) /วัน ลดลงจากปีก่อนคิดเป็น 12.9% โดยปริมาณการใช้ภาคปิโตรเคมีลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 24.5% ภาคขนส่งมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.6 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 13.5% ภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.9 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 1.9% และภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 1.8% ขณะที่การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.9 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 12.6% โดยมีสาเหตุมาจากการปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนและรถโดยสารหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็ว B20 ทดแทน ส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 922,977 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.3% คิดเป็นมูลค่า 59,406 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ากลั่นลง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 30,392 บาร์เรล/วัน ลดลง 64.9% คิดเป็นมูลค่า 1,947 ล้านบาท/เดือน สำหรับการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 175,222 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.7% คิดเป็นมูลค่า 11,234 ล้านบาท/เดือน