"คำนูณ" แนะรัฐออก พรบ.โยกงบ63 จำนวน 10% มาใส่ในงบกลาง แก้ปัญหาโควิด-19 ชี้ งบหลายส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โดยเฉพาะ งบ อบรมสัมมนา-ดูงานต่างประเทศ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด จารุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะออกกฎหมายโอนงบประมาณ 10 % ของงบประมาณปี 2563 ที่เหลืออยู่จากทุกหน่วยมาไว้ที่งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการ ‘เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น’ เพื่อรับมือวิกฤต COVID-19 ว่าขอสนับสนุนแนวทางนี้ของรัฐบาล เพราะขณะนี้งบกลาง จำนวน 96,000 ล้านบาท ถูกใช้จ่ายในการดูแล ผู้ได้รับผลกระทบ โควิด-19 ไปแล้วจำนวนมาก และยัง มีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆอีก ในขณะที่งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ในปัจจุบัน จัดทำมาตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งมีบางส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยบางส่วนไม่สามารถใช้จ่ายได้หรือบางส่วนใช้จ่ายไม่ทัน โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของการอบรมสัมมนา การเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จึงควรจัดสรร เงินในส่วนที่ไม่ได้ใช้จ่ายดังกล่าว มากองไว้ที่งบสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อรับมือกับโควิด19 และกรณีนี้ถือว่าเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 สามารถออกเป็นพระราชกำหนดโยกงบประมาณได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ "เป็นแนวทางแรกที่จะได้เงินมาเร็วที่สุด เพราะเป็นเงินงบประมาณอยู่แล้วเพียงแต่เอามาใช้ ให้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งไม่ออกเป็นกฎหมายแล้วก็สามารถจะตัดมาใช้ได้เลย เช่นงบบริหารราชการของหน่วยงานที่จะไปดูงานต่างประเทศ การจัดอบรมสัมมนา หรือเบี้ยประชุมต่างๆ ซึ่ง ไม่ได้ทำอย่างน้อย 3 เดือน เพราะไม่มีทางเดินทางไปไหนได้อยู่แล้ว ก็เอาออกมาจากหมวดนั้นโอนย้ายมาที่งบกลาง ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งเมื่อเอามากองอยู่ตรงนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็สามารถ นำมาใช้ได้เลย จะซื้อหน้ากาก จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือจะเยียวยาอะไรก็สามารถทำได้เลย" นายคำนูณ กล่าว นายคำนูณ กล่าวว่า หากเงินงบประมาณในส่วนนี้ยังไม่พอเพียง ยังมีอีกทางเลือก คือเงินในกองทุนสำรองตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ซึ่งในมาตรา 45 บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่จำเป็นในการใช้บริหารราชการแผ่นดิน และงบกลางในการใช้สำรองจ่ายฉุกเฉิน หรือจำเป็นไม่เพียงพอ คณะรัฐมนตรีก็สามารถมีมติออกมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเงินกองทุนในส่วนนี้ออกมาใช้ได้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 50,000ล้านบาท แต่มีข้อเสียว่าเมื่อนำออกมาใช้แล้วจะต้องไปตั้งจ่ายคืนในปีงบประมาณถัดไป อาจทำให้งบประมาณ ปี 2564 ต้องลดลง หรืออีกทางคือการออกเป็นพระราชกำหนดอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ แต่เห็นว่าน่าจะเป็นทางสุดท้ายที่จะดำเนินการ.