“ดีป้า”รื้องบปี 63 แบ่ง 90 ล้านบาท นำร่องช่วย “ดิจิทัล สตาร์ทอัพ” รีสตาร์ทธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19ผ่านมาตรการดีป้า ดิจิทัล สตาร์ทอัพ ฟันด์ ตั้งเป้า 47 ราย ครอบคลุม 6 กลุ่มเทคโนโลยี่สำคัญประคองดิจิทัล สตาร์ทอัพ พร้อมเร่งพัฒนาบริการดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้าได้ปรับแผนใช้งบประมาณประจำปี 2563 โดยเปิดมาตรการสนับสนุน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นำร่อง 90 ล้านบาท ส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัล(Digital Startup) ผ่านมาตรการดีป้า ดิจิทัล สตาร์ทอัพ ฟันด์ เน้นครอบคลุมสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญตอบโจทย์ประเทศเช่น เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร การศึกษา การเงิน บริการภาครัฐ ท่องเที่ยว และสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หวังช่วยประคับประคองกลุ่มดิจิทัลสตาร์ทอัพในช่วงวิกฤต โดยสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา ระบาด ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจไทย ดีป้าเห็นความสำคัญการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในหลายกิจกรรม แต่ในสภาวะแบบนี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ รวมถึงการขยายธุรกิจพอสมควรดีป้า จึงได้ออกมาตรการนี้ขึ้น เพื่อช่วยเหลืออุดหนุนกลุ่มดิจิทัล สตาร์ทอัพตั้งเป้า ส่งเสริมทั้งสิ้น 47 ราย ครอบคลุม 6 เทคโนโลยีสำคัญ สำหรับการออกมาตรการครั้งนี้เปิดการขานรับโจทย์การเร่งช่วยเหลือกลุ่มดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีคำสั่งให้ดีป้าเร่งหามาตรการฟื้นฟู และเยียวยาโดยเร็ว ดีป้าจึงได้รื้องบปรับแผนให้ความสำคัญเร่งด่วนกับทุกฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มต้นที่กลุ่มสตาร์ทอัพ และยังได้เตรียมแผนปล่อยมาตรการเพื่อสู้ภัยโควิด-19 ต่อเนื่อง ทั้งสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ชุมชนเกษตรกร บุคลากรดิจิทัล คนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าเกษียณอายุ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้การประกาศรับข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับการส่งเสริม ภายใต้มาตรการดีป้า ดิจิทัล สตาร์ทอัพ ฟันด์แบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกเน้นโครงการที่มีเป้าหมายการดำเนินการทั่วประเทศใน 6 เทคโนโลยีดิจิทัลสาขาเป้าหมาย และการพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะจำนวน 17 ราย แบ่งเป็นระยะก่อตั้งธุรกิจ (S2) 11 ราย และระยะเติบโตของธุรกิจ (S3) 6 รายโดยมีระยะเวลาการเปิดรับสมัคร 23 มี.ค.-3 เม.ย.63 ส่วนโครงการที่มีเป้าหมายดำเนินการในจังหวัด และสาขาเป้าหมายได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ภูเก็ต กระบี่ มุกดาหาร นครพนม หนองคาย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ยะลา ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี(แต่ละจังหวัดมีเทคโนโลยีเป้าหมายแตกต่างกัน)จำนวน 30 ราย แบ่งเป็นระยะก่อตั้งธุรกิจ(S2) 29 ราย และระยะเติบโตของธุรกิจ(S3) 1 ราย ระยะเวลาการเปิดรับสมัคร 7-24 เม.ย.63 อย่างไรก็ตาม ดีป้า เชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทมากในช่วงเวลานี้ เมื่อคนต้องรักษาระยะห่าง แต่ทุกการดำเนินการยังต้องขับเคลื่อน หากประชาชนสามารถเลือกประยุกต์ใช้ได้เหมาะสม เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปได้ สำหรับมาตรการต่างๆได้เริ่มเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการแล้วและจะทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th/thaifightcovid