"พีระศักดิ์"นำทีมสนช.รับฟังปัญหาประชาชนเมืองตรัง ”กาญจนารัตน์”คาดเลือกตั้งไม่เกิน พ.ย.ปี 61 วันที่ 29 เม.ย.60 ที่หอประชุมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 พร้อมด้วยสมาขิกสนช.จำนวน 20 คน อาทินายกล้าณรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง พล.อ.สกนธ์ สัจจนิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น พร้อมด้วยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งหารือกับส่วนราชการต่างๆ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง รับฟังปัญหาอุปสรรคด้านต่างๆเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภายใต้บทบาทหน้าที่ของสนช.ภายใต้เป้าหมาย”สะท้อนปัญหา นำพาแก้ไข ห่วงใยประชา” โดยได้มีการแบ่งคณะเล็กลงพื้นที่ต่างๆในจังหวัดตรัง เช่น ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาท่าเทียบเรือปากเมง ทำกิจกรรมเพื่อสังคม พบปะตัวแทนกลุ่มสตรี เป็นต้น นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้งของสนช.ก็เป็นสะพานเชื่อมแม่น้ำ 5 สายในการรับฟังปัญหาของประชาชน ซึ่งก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาต่างๆที่แก้ไขไม่ได้สะสมมานาน ผ่านมา 3 ปี ปัญหาต่างๆก็ได้รับการแก้ไขได้ รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ค่อยๆขับเคลื่อนเติบโต ขณะที่ด้านความมั่นคงก็เดินหน้าไปสู่ความปรองดอง ส่วนการเลือกตั้งใหญ่นั้นเป็นนโยบายของคสช.อยู่แล้วแต่จะเลือกเร็วช้า ก่อนหรือหลังการเลือกตั้งท้องถิ่น ทางคสช.จะประเมินสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนก็ได้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ส่วนความเป็นห่วงเรื่องของการยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลยันยันเป็เพียงข้อเสนอของสปท.ขณะนี้ยังไม่มี ด้านนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สนช.และที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า สนช.มีหน้าที่หลักในการออกกฏหมาย โดยที่อยู่มายังไม่ถึง 4 ปี สนช.อออกฏหมายไปแล้ว 239 ฉบับ ซึ่งถือว่ามากกว่ายุคส.ส.และส.ว. ซึ่งกฎหมายที่ออกไปนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน บางฉบับในภาวะปกติกฏหมายบางฉบับก็ไม่สามารถออกได้ แต่ในยุคสนช.กฎหมายเหล่านี้ก็ออกมาบังคับใช้ได้ เช่น พ.ร.บ.การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่บังคับห้ามแบ่งขายบุหรี่กับเด็ก กำหนดโซนการสูบบุหรี่ กฎหมายการฟ้องร้องคดีเป็นกลุ่ม เป็นต้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญม.77 ได้มีการกำหนดเรื่องของการออกกฏหมายที่ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน นำมาวิเคราะห์ผลกระทบผลดีผลเสียของกฏหมาย และต้องเปิดเผยผลวิเคราะห์ความเห็นให้ประชาชนรับทราบ อีกทั้งการออกกฏหมายจะออกเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและไม่สร้างภาระให้กับประชาชน ดังนั้นจากนี้ไปการออกกฏหมายทุกฉบับจะต้องทำตามม.77 นางกาญจนา ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ทุกอย่างก็เดินหน้าไปตามโรดแม็ปเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหญ่ โดยสนช.จะต้องออกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่มีเวลาบังคับให้ออกภายใน 240 วัน คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน ก.พ. 2561 จากนั้นก็ต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมีเวลา 10 วัน หากเห็นไม่ตรงกันก็มีเวลาแก้ไข 10 วัน ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ในเดือน มี.ค. เมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยก็นำร่างพ.ร.ป.นำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน ก็น่าจะประมาณเดือน มิ.ย. และเมื่อประกาศใช้พ.ร.ป.แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะมีเวลา 150 วันในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.หากไม่มีเหตุใดเปลี่ยนแปลงหรืออาจเร็วกว่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้เปิดให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหา โดยปัญหาที่ประชาชนนำเสนอส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ปัญหาแหล่งน้ำ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความต้องการในพื้นที่ การเลือกตั้งท้องถิ่น และวาระการดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเรียกร้องให้ช่วยในด้าน การติดตามเงินช่วยเหลือจากภัยพิบัติ น้ำท่วม จำนวน 3000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้มีประชาชนคนหนึ่งได้กล่าวขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย คนอื่นไม่รู้คิดยังไงตนไม่รู้ แต่ชื่นชอบ อยากให้พล.อ.ประยุทธิ์ นายกฯอยู่ต่อนานๆบ้านเมืองจะได้สงบ ซึ่งถ้าเรารีบให้มีการเลือกตั้ง กล้าการันตีเลยว่า บ้านเมืองจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม