เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำในเขื่อน การดับไฟป่าลดปัญหาหมอกควัน และการติดตามพายุลูกเห็บ ซึ่งในขณะนี้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ และราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทำงานโดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยทั้ง 11 หน่วยฯ มีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน หากเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ตอนนี้กำลังประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันค่อนข้างรุนแรงเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การดับไฟป่าสามารถทำได้ 2 กรณี คือ ถ้าเงื่อนไขของสภาพอากาศเหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จึงจะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทันที ในขณะเดียวกันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีเฮลิคอปเตอร์ที่จะสนับสนุนการดับไฟป่า อยู่จำนวน 1 ลำ ซึ่งประจำการอยู่ที่จ.เชียงใหม่ จึงได้มีการแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดได้ทราบ หากมีความจำเป็นที่จะใช้เฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่จะไปร่วมดับไฟป่า สามารถขอสนับสนุนเข้ามาได้เลย สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พังงา ตราด พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วงตากาด จ.ตราด และอ่างเก็บน้ำยางชุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ​ ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 23 จังหวัด 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 182 แห่ง สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) จากดาวเทียม ระบบ MODIS วันที่ 29 มีนาคม 2563 ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวน 301 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเกณฑ์ค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สำหรับพื้นที่ภาคกลางมีเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลาง และบางพื้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเกณฑ์คุณภาพอากาศดีถึงดีมาก ด้านแผนที่ปริมาณน้ำฝนสะสม 1 สัปดาห์ (23-29 มี.ค.63) พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วนมีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ในระดับ 10-50 มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่า มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 90% (ราษีไศล) 68% (พิมาย) 48% (บ้านผือ) ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 32% (ราษีไศล) 26% (พิมาย) 22% (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.1 (ราษีไศล) -0.6 (พิมาย) 1.0 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 3 กม./ชม. (ราษีไศล) 7 กม./ชม. (พิมาย) 13 กม./ชม. (บ้านผือ) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.นครราชสีมา และจ.บุรีรัมย์ ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุบลราชธานี วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ ​​ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบว่า สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไปทันที ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร