วันที่ 29 เม.ย.60 พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนทุกแขนงรวมพลังต่อต้านร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสปท.ในวันที่ 1 พ.ค.ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่สปท.สื่อสารมวลชนเสนอมา ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายที่จะออกเป็นกฎหมาย เป็นเพียงข้อเสนอที่หากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสปท.ในวันที่ 1พ.ค.นี้ จะส่งต่อไปให้ครม.พิจารณา ถ้าครม.เห็นชอบจึงส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณายกร่างเป็นกฎหมาย ดังนั้นเนื้อหาจึงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เข้าใจความเป็นห่วงของสื่อมวลชนเรื่องการมีตัวแทนภาครัฐ 2 คน ไปเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่อาจจะเข้ามาแทรกแซง ครอบงำการทำงานสื่อนั้น แต่ตัวแทนภาครัฐมีสัดส่วนแค่ 2คน จาก 15 คน ขณะที่ตัวแทนสื่อเป็นเสียงข้างมากมีถึง 7 คน และยังนั่งเป็นประธานคณะกรรรมการสภาวิชาชีพฯ ซึ่งการจะลงมติใดๆจะใช้วิธีโหวตตัดสิน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ภาครัฐจะเข้าไปครอบงำ เพราะเป็นเสียงข้างน้อยแค่ 2เสียงเท่านั้น พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีเจตนาครอบงำสื่อ การให้มีตัวแทนภาครัฐ 2คนร่วมเป็นสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อเข้าไปช่วยก่อตั้งสภาวิชาชีพฯเท่านั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเดินไปด้วยกัน ไม่มีทางที่ภาครัฐหรือเอกชนจะเดินไปเดี่ยวๆฝ่ายเดียวได้ อย่างไรก็ตามเพื่อลดความกังวลของสื่อมวลชน ตนจะเสนอในที่ประชุมสปท.วันที่ 1 พ.ค.ว่า จะให้ออกบทเฉพาะกาลเพิ่มเติมให้ตัวแทนภาครัฐ 2คนคือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่นั่งอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ นั่งอยู่ในวาระ 3ปี ได้แค่ 2เทอมเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่มีตัวแทนภาครัฐร่วมเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติต่อไป จะเหลือคณะกรรมการฯอยู่แค่ 13 คนเท่านั้น จะไม่มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในโครงสร้างคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติอีกต่อไป เพื่อให้สื่อลดความกังวลเรื่องการแทรกแซงครอบงำสื่อ พล.อ.อ.คณิตยังกล่าวถึงการนำโมเดลสื่อมวลชนสิงคโปร์มาเป็นแนวทางปฏิรูปสื่อไทยว่า สิ่งที่สปท.นำมาปรับใช้ไม่ได้ยึดจากโมเดลสิงคโปร์อย่างเดียว แต่ดูตัวอย่างจากสื่อของเวียดนาม มาเลเซียด้วย เท่าที่ศึกษาพบว่า สื่อมวลชนสิงคโปร์ถูกควบคุมใน 3-4เรื่องคือ การห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น การห้ามสร้างความแตกแยก การห้ามทำลายเสถียรภาพรัฐให้สั่นคลอน ทำให้ประเทศสิงคโปร์มีเสถียรภาพ เราจึงลอกในส่วนดีของเขามาใช้ ยืนยันว่า สปท.สื่อสารมวลชนทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ จึงต้องมีการจัดระเบียบกันซึ่งอาจไปกระทบกับสิ่งที่สื่อมวลชนเคยปฏิบัติงานมาบ้าง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวว่า สปท.สื่อสารมวลชนไม่ได้เร่งเครื่องนำร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เข้าสู่ที่ประชุมสปท.ในวันที่ 1พ.ค. เพื่อสกัดสื่อมวลชนเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่เนื่องจากการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมวิปสปท. เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางวิปสปท.บอกว่า ให้บรรจุเข้าสู่วาระที่ประชุมสปท.ในวันที่ 1พ.ค.เลย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จะได้ให้สมาชิกสปท.นำมาหารือกัน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ทอดเวลามานานแล้ว และคุยกันมาเยอะแล้ว จึงถึงเวลานำเข้าสู่ที่ประชุมสปท. ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตนก็พร้อมยอมรับ ส่วนการกำหนดบทลงโทษสื่อที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพนั้น เป็นการจัดระเบียบเพื่อให้สื่อมีต้นสังกัด จึงต้องกำหนดบทลงโทษ เพื่อป้องกันให้คนไม่ดีที่ไม่มีสังกัดอาศัยความเป็นสื่อมวลชนไปสร้างความเสียหาย เดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่มีเจตนาควบคุมหรือแทรกแซงการทำงานสื่อ