วันที่ 30 มี.ค. 63 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่าหัวใจการทำงานที่สำคัญที่สุดคือ การส่งผ่านข้อมูลหรือการสื่อสารไปยังประชาชน ขณะนี้ต้องใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่น ทำให้ข้อมูลถึงประชาชน นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ต้องยึดถือปฏิบัติกันทุกวันจนกว่าจะพ้นวิกฤต และการทำแนวทางการป้องกันไม่ให้มีเชื้อมาติดทุกคนได้ ทั้งระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครอบครัว และบุคคล ส่วนการควบคุม นายกฯยังให้ใช้ระดับของการกักตัวที่บ้าน ส่วนการทำงานของ ศบค.จะต้องเสริมเติมสิ่งต่างๆ เพื่อหามาตรการ การทำงานของหัวหน้าส่วนราชการต้องเชื่อมโยงกันเพื่อการให้ออกมาตรการใดๆ มีผลกระทบด้านดีมากที่สุด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 136 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย นายกฯระบุว่าอย่าชะล่าใจกับตรงนี้ แม้จะเป็นข่าวดีที่เราไม่ให้มีตัวเลขรายใหม่เพิ่มขึ้นมากมายนัก แต่อยากให้ประชาชนร่วมมือให้เข้มแข็งที่สุดเพื่อไม่ให้ตัวเลขสะสมเพิ่มไปกว่านี้ โดยในส่วนพื้นที่ กทม.และนนทบุรี ยังมีตัวเลขสูงอยู่ ส่วนแนวโน้มต่างจังหวัดยังขึ้นๆ ลงๆ ขณะที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานถึงมาตรการเข้มข้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยที่ จ.ภูเก็ตมียอดผู้ติดเชื้อ 41 ราย ผู้กักตัวที่บ้าน 298 คน เป็นคนไทย 252 คน มีการปิดสถานที่เสี่ยง 2,532 แห่ง ห้ามประชาชนออกพื้นที่ชายหาดทุกแห่ง ขอความร่วมมืองดออกจากเคหะสถาน 20.00 – 03.00 น. นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า การสัญจรไปมาของประชาชนทุกรูปแบบลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่อยากขอความร่วมมือให้ลดการสัญจรให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ การจะลดการแพร่ระบาดได้ ต้องร่วมมือกันปลัดสธ.แจง หน้ากาก N95 ใช้เฉพาะผู้ป่วยหนัก-ผู้ป่วยสังเกตอาการ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ยอดรวมการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลระหว่างวันที่ 7-28 มี.ค.กระจายได้ 19.59 ล้านชิ้น แต่ปัจจุบันการผลิตมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้แผนการกระจายไปให้บุคลากรทางการแพทย์จะอยู่ที่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนหน้ากาก N 95 ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยหนัก ต้องใช้วันละ 15 ชิ้น ผู้ป่วยสังเกตการณ์ต้องใช้วันละ 5 ชิ้น หากมีผู้ป่วย 10,000 คน จะต้องใช้ 17,000 ชิ้นต่อวัน ขณะนี้เราประสานไปยังบริษัท 3M ที่เป็นผู้ผลิตหน้ากาก N95 จากสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยที่เราสั่งไปก่อนหน้านี้ของจะทยอยเข้ามา เพราะตอนนี้สหรัฐฯและยุโรปก็มีปัญหาและจำเป็นต้องใช้ในประเทศของเขา ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รับได้บริจาคนั้น จะมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ขณะที่หน้ากากบางส่วนที่ได้รับบริจาคมาเป็นหน้ากากกันฝุ่น เราจะส่งไปให้ภาคเหนือที่กำลังประสบปัญหาหมอกควันอยู่ ส่วนเตียงผู้ป่วย ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 700 เตียง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องหน้ากากอนามัยที่ก่อนหน้านี้มีการระบุกันว่ามีในสต็อก 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือวัตถุดิบที่สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น แต่ยังไม่ได้ทำการผลิต โดยเราจะจัดสรรให้กับบุคลาการแพทย์และสถานพยาบาลก่อน