กอนช.เตรียมเรียกประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์อเรนซ์พฤหัสนี้ เกาะติดความก้าวหน้าแก้ไขปัญหาแล้ง พร้อมเตรียมการณ์ล่วงหน้ารับมือฤดูฝน ประเมินน้ำต้นทุนหลังสิ้นแล้งเพื่อเตรียมแผนจัดสรรน้ำทุกประเภท โดยเฉพาะแผนการเพาะปลูกหลังฝนมา เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ (2 เม.ย.63) ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อติดตามประเมินสภาพอากาศและการคาดการณ์ สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และแหล่งน้ำธรรมชาติ ผลการเพาะปลูกพืช พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน กอนช.จะพิจารณาผลการประเมินปริมาณน้ำใช้การในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอถึง 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง อาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคหากไม่มีมาตรการรองรับ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันเพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพื่อเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์โดยเร่งด่วนให้ผ่านพ้นช่วงแล้งจนถึงสิ้นมิถุนายนนี้ให้ได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องเตรียมความพร้อมสำหรับต้นฤดูฝนที่จะถึงพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำที่เริ่มมีการจัดสรรน้ำเพื่อเริ่มการเพาะปลูกในวันที่ 1 เมษายนนี้ด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมจะมีการติดตามเร่งรัดความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 ให้เสร็จตามแผน ซึ่งปัจจุบันพบว่า จากแผนงานโครงการการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ 43 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,041 แห่ง ขณะนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เริ่มดำเนินการแล้ว 174 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 24.71 จากแผนงาน 704 แห่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เตรียมดำเนินการ 550 แห่ง จากแผน 888 แห่ง กองทัพบก เริ่มดำเนินการแล้ว 134 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.11 จากแผน 209 แห่ง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรงบประมาณ 110 แห่ง จากแผน 190 แห่ง การประปาส่วนภูมิภาค เริ่มดำเนินการแล้ว 40 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80 จากแผน 50 แห่ง ทั้งนี้ เมื่อจำแนกผลดำเนินการตามรายภาค พบว่า ภาคเหนือ จากแผนงานทั้งหมด 1,059 แห่ง เริ่มดำเนินการแล้ว 149 แห่ง แบ่งเป็น การขุดเจาะบ่อบาดาล ดำเนินการขุดเจาะแล้วเสร็จ 141 แห่ง ยังคงเหลือติดตั้งระบบสูบน้ำ ระบบท่อ และถังเก็บน้ำ อาทิ จ.นครสวรรค์ พิจิตร เชียงใหม่ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 แห่ง ใน จ.สุโขทัย 2 แห่ง อุทัยธานี 2 แห่ง การวางท่อน้ำดิบ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง ใน จ.พิจิตร 1 แห่ง จ. ลำปาง 1 แห่ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง ใน จ.เพชรบูรณ์ ภาคกลาง จากแผนงาน ทั้งหมด 223 แห่ง ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วเสร็จ 30 แห่ง ใน จ.ลพบุรี เพชรบุรี และนครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากแผนงานทั้งหมด 702 แห่ง เริ่มดำเนินการแล้ว 153 แห่ง แบ่งเป็น ขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วเสร็จ 126 แห่ง (ยังคงเหลือติดตั้งระบบสูบน้ำ ระบบท่อ และถังเก็บน้ำ) อาทิ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ และนครราชสีมา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 16 แห่ง การจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 1 แห่ง ใน จ.ขอนแก่น การวางท่อน้ำดิบ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 5 แห่ง ในจ.ชัยภูมิ 2 แห่ง นครพนม 2 แห่ง บึงหาฬ 1 แห่ง และก่อสร้างสถานีสูบน้ำ อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แห่ง ใน จ.ชัยภูมิ 2 แห่ง มหาสารคาม 1 แห่ง เลย 1 แห่ง บุรีรัมย์ 1 แห่ง ภาคตะวันออก จากแผนงานรวม 53 แห่ง เริ่มดำเนินการแล้ว 12 แห่ง ประกอบด้วย การขุดเจาะบ่อบาดาล แล้วเสร็จ 11 แห่ง (ยังคงเหลือติดตั้งระบบสูบน้ำ ระบบท่อ และถังเก็บน้ำ) ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง การวางท่อน้ำดิบ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 1 แห่ง ใน จ.ชลบุรี ภาคใต้ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามแผนทั้งหมด 4 แห่ง แบ่งเป็น ขุดเจาะบ่อบาดาล 2 แห่ง ใน จ.ปัตตานี 1 แห่ง สงขลา 1 แห่ง การวางท่อน้ำดิบ 2 แห่ง ใน จ.ภูเก็ต “ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้เร่งรัดดำเนินการตามแผนงานโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบพื้นที่เฝ้าระวังจากปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง โดย สทนช.จะมีการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของโครงการในการเพิ่มแหล่งน้ำสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคอย่างต่อเนื่องด้วย”เลขาธิการ สทนช.กล่าว