พล.ต.ท. โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยว่า กทม.ได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 กรุงเทพฯ - พื้นที่จังหวัดเสี่ยง ตามแนวทางก.สาธารณสุข โดยเฉพาะการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและเน้นย้ำความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตนเองและปฏิบัติตนตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย สำนักการแพทย์ ดำเนินการและรณรงค์เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้แก่ การจัดพื้นที่นั่งรอรับบริการในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วย โดยเว้นระยะห่างประมาณ 1 เมตร เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล รวมถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยมีแนวทางรับยาของผู้ป่วย 3 แนวทางคือ การรับยาที่โรงพยาบาล (ยืดระยะเวลาการนัด) การรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน และการรับยาทางไปรษณีย์ โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดเดินทาง เพื่อสกัดกั้นและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในกรณีผู้ใช้บริการหรือญาติผู้ป่วยต้องการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย แนะนำให้เยี่ยมผ่านโทรศัพท์ด้วยวิธีวิดีโอคอลหรือวิธีอื่นแทนเดินทางมาโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ที่มารับบริการ และลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในจุดตรวจต่างๆ ตลอดจนกำชับแนวทางปฏิบัติในการดูแลและป้องกันตนเองขณะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค สำนักการแพทย์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของบุคลากรทุกคน โดยประสานหน่วยงานภายนอกจัดหาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน PPE รวมถึงยารักษาโควิด-19 ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ มีการ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัด มีการฝึกซ้อมแผนการรับมือสำหรับกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร อุปกรณ์ รวมถึงสถานที่ และแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยมีศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เป็นศูนย์กลางประสานการรับ-ส่งผู้ป่วยของโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนสำนักอนามัย ได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงานประจำจุดคัดกรองทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ ทั้ง 12 แห่ง และที่สถานีขนส่ง เพื่อคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพฯ หากพบผู้ใดมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หอบเหนื่อย จะส่งสถานพยาบาลเพื่อตรวจคัดกรองโควิด-19 ต่อไป รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เจ้าหน้าที่ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตนตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ของกทม.