ช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นช่วงผลไม้ภาคตะวันออก มีผลผลิตออกมากที่สุด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ศสก.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกในช่วงไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2560) ว่า มีปริมาณที่ใกล้เคียงกับปีปกติ คือปี 2556-2557 เนื่องจากปี 2558-2559 เป็นปีที่ประสบกับภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลไม้ออกน้อยกว่าปกติ ส่วนในปี 2560 ปริมาณผลผลิตน่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ยังถือว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งเกษตรกรมีการบริหารจัดการให้ผลผลิตออกนอกฤดูส่วนหนึ่ง ทำให้ผลผลิตไม่กระจุกตัวในช่วงที่ผลผลิตออกพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออกส่วนใหญ่ มีการบริหารจัดการแปลงที่ดี ได้รับการรับรองมาตรฐานแปลง GAP ขณะที่โรงคัดบรรจุก็ได้มาตรฐาน GMP และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่งผลให้สินค้ามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะทุเรียน ได้รับความสนใจในต่างประเทศอย่างมาก เช่น มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีตลาดใหม่อย่างเกาหลีใต้ ทำให้ความต้องการผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อมั่นว่าผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดจะมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ และจะช่วยให้จีดีพีภาคเกษตร ไตรมาส 2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาผลไม้ไทยได้ส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก ประมาณ 80% มูลค่าส่งออกรวม 25,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ทุเรียนมีการส่งออกมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท มังคุด ส่งออก 4,200 ล้านบาท และเงาะ 550 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย ระยะที่ 1 (2558-2560) เพื่อพัฒนาผลไม้ไทยให้เป็นผลไม้ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ด้วยกระบวนการผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAPมีการบริหารจัดการผลผลิตกระจายออกนอกฤดู มีการดูแลรักษาผลผลิตโดยเฉพาะการเก็บผลผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ รวมถึงการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานระดับจังหวัด หรือ Single Command ที่ได้ลงพื้นที่พบปะกับเจ้าของสวนผลไม้โดยเฉพาะสวนทุเรียน รวมถึงผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ รณรงค์ให้เก็บเกี่ยวเฉพาะทุเรียนที่มีผลแก่เท่านั้น เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนราชาแห่งผลไม้ไทย ให้คงความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคต่อไป “จากความสามารถของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่มีการปรับตัวนำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี อีกทั้งพัฒนางานวิจัย เช่น การยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ หรือการแปรรูป ล้วนส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้มีโอกาสในการจำหน่ายผลผลิตได้ยาวนานและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หากเกษตรกรสามารถรักษามาตรฐานการผลิตให้ได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด เชื่อมั่นว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยจะเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 10% อย่างแน่นอน” สำหรับเกษตรกรที่สนใจกระบวนการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ สามารถไปเรียนรู้ได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตของตนเอง สร้างโอกาสและรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป