"บิ๊กตู่" เรียกจนท.ถกด่วน! แก้สถานการณ์ "โควิด-19" ระบาดหนัก ยอดตัวเลขผู้ป่วย-เสียชีวิตพุ่งไม่หยุดพร้อมตั้ง"10ศูนย์" ช่วยปชช. ขณะที่"ศบค."ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้ผลหรือไม่ รอดู 7 วัน หลังประกาศใช้ เตือนระวังเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันปลอม ด้าน "พปชร."ชู"ชลบุรีโมเดล"เปิดโรงแรมกว่า10 แห่ง สู้โควิด-19 ระบาดหนัก จ่าย 300 บาท ระหว่าง "เฝ้าระวังตัว-กักตัว" พร้อมเสนอ"นายกฯ-บิ๊กป้อม" ขับเคลื่อนทั่วปท. ส่วน"ดุสิตโพล"เผยข่าวโควิด-19ระบาดหนักทำ "ปชช. จิตตก" ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 29 มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจภายในทำเนียบฯตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมเรียก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ,นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ,นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกฯ และนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อประชุมแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเร่งด่วน หลังมีผู้ติดเชื้อสะสม 1,2 45 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องรวมเป็นรายที่ 7 ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯประชุมเสร็จสิ้น ได้เดินทางลงจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ เพื่อเดินทางกลับ ก่อนให้รถยนต์วนกลับมายังบริเวณตึกสันติไมตรี เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มาจากหลายภาคส่วน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศบค.ว่า ได้กำชับมาตรการไปหมดแล้ว โดยให้แต่ละส่วนชี้แจงข้อมูล เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันเป็นห่วงหรือไม่และจะมีมาตรการเพิ่มเติมอะไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรเพิ่ม ก็ให้ทำตามมาตรการจะได้ลดลง เมื่อถามย้ำว่า จะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้อีกหรือไม่ เพราะบางจังหวัดมีมาตรการที่เข้มข้นและปิดพื้นที่ไปแล้ว นายกฯ กล่าวว่า "คุมใจตัวเองให้ได้แล้วกัน สื่อก็คุมตัวเองด้วย" นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งหน่วยงานภายใต้ศูนย์โควิด-19 ประกอบด้วย 1.สำนักเลขาธิการ 2.สำนักประสานงานกลาง 3.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และ สาธารณสุข 4.ศูนย์ปฏิบัติการ ด้านมาตรการป้องกัน และช่วยเหลือประชาชน 5.ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากาก และเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน 6.ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า 7.ศูนย์ปฎิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ 8.ศูนย์ปฏิบัติการ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม 9.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง 10.ศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยการปฏิบัติงาน จะรายงานตรงต่อนายกฯ ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า นายกฯได้เน้นย้ำว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใครปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีการลงโทษเด็ดขาด และ ในการประชุมกลุ่มเล็กนายกฯได้ให้ความสำคัญเรื่องตัวเลข ข้อมูล โดยให้ ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานเป็นไทม์ไลน์ เพื่อจะได้วิเคราะห์ออกมาตรการแก้ปัญหา และให้แต่ละจังหวัดรวบรวมรายงานและข้อกำหนดที่จังหวัดออกมา เพื่อจะนำมาสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติตาม รวมถึงกำชับเรื่องการหาหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ประชาชนมีใช้อย่างเพียงพอ "การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นผลดีหรือไม่ ตัวเลขจะสะท้อนออกมาหลังประกาศไปแล้ว 5-7 วัน" นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 จำนวน 5,000 บาท ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมนั้น ในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 มี.ค. ที่เริ่มให้ลงทะเบียนได้นั้น มีประชา ชนลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน จนไม่สามารถรับข้อมูลได้ทัน ทำให้ระบบล่มไปในช่วงหนึ่ง ก่อนจะใช้เวลาแก้ไขได้ใน 2 ชั่วโมง ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนได้แล้ว 12 ล้านคน ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการลงทะเบียนได้มากในเวลารวดเร็วขนาดนี้ จึงขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังที่ระดมสรรพกำลังมารับข้อมูลและกู้ระบบ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ลอกเลียนแบบใช้ชื่อเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันถึง 44 เว็บไซต์ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเข้าไปลงทะเบียน คนกลุ่มนี้หวังนำข้อมูลประชาชนไปใช้ประโยชน์ เราถือว่าเป็นเจตนาไม่ดี ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเว็บไซต์จริงของกระทรวงการคลังคือ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เมื่อลงทะเบียนจะได้รับข้อความตอบรับ นายกฯย้ำว่าหน่วยงานภาครัฐจะต้องทุ่มเทสรรพกำลังช่วยประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งประชาชนจะได้รับเงินหลังจากลงทะเบียนอย่างเร็ว 7 วันทำการ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯระบุว่าเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแล้วยังมีความห่วงและกังวล ดังนั้น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะต้องมีมาตรการที่เฉพาะเจาจะจงลงไป โดยสั่งการให้กระทวงมหาดไทยแจ้งมาเลยว่าแต่ละแห่งมีมาตรการอย่างไร และให้รายงานต่อนายกฯทุกวัน ตอนนี้ทุกพื้นที่เข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการประกาศห้ามเดินทางเข้า-ออก ยกเว้นต้องการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้า หากใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รัฐบาลต้องทำแบบนี้เพื่อท่านเอง อาจเสียความสะดวกสบายไปบ้าง แต่อดทนสักนิด ทุกอย่างจะกลับคืนกลับมาเหมือนเดิม และขอย้ำว่า รวมกันติดหมู่ แยกกันอยู่เรารอด ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานส.ส.พปชร.กล่าวว่า ภาย หลังจากทีมแพทย์ ระบุให้เฝ้าระวังจะมีผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นหลังเหตุการณ์สนามมวยและจากประชาชนเดินทางภูมิลำเนาจากมาตรการปิดกรุงเทพฯ บัดนี้ตนได้ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี เพื่อจัดหาโรงแรมต่างๆ ในจ.ชลบุรีเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว หากจำนวนผู้ป่วยมากเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี โดยขณะนี้มีโรงแรมต่างๆ ที่จิตสาธารณะเข้าร่วมแล้ว 10 แห่ง ทั้งในตัวเมืองชลบุรี และพัทยา รองรับได้เป็นพันคน โดยได้เตรียมแผนการทำหน้าที่ไว้เป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกคือ 1.ปรับเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย และ2.ใช้เป็นสถานที่กักตัวตามรายชื่อกลุ่มที่ต้องกักตัว ตามที่ส่งมาจากสาธารณสุขและนายอำเภอทำร่วมกันจากการสืบสวน ผู้สุ่มเสียงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 "การใช้โรงแรมเป็นที่กักตัว ถือว่าจะทำให้พื้นที่ จ.ชลบุรี ควบคุมเชื้อโควิด-19 ได้ที่ดีขึ้น ตามแนวทาง "ชลบุรีโมเดล" ที่ตัวเอง ระดมทุนจากพ่อค้าและภาคีในพื้นที่ช่วยค่าใช้จ่ายประชาชนที่ถูกกักตัวอยู่ที่บ้านวันละ 300 บาท และช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)อีก 300 บาท ที่ทำหน้าที่ควบคุม เพราะชาวบ้านบางคนอาจอยู่ในครอบครัวใหญ่ ไม่มีพื้นที่ อาจสุ่มเสี่ยงติดเชื้อ กับคนในบ้าน และเมื่อย้ายไปกักตัวตามโรงแรมต่างๆ ก็จะง่ายต่อการควบคุม อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลรายได้ที่ขาดหายไปด้วย ที่สำคัญยังสร้างความมั่นใจให้ชาวชลบุรีว่าจะไม่มีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน"ประธานส.ส.พลังประชารัฐ กล่าว นายสุชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากเสนอแนวคิด "ชลบุรีโมเดล"ได้รับเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่ ล่าสุดได้แนะนำท่านนายอำเภอเมืองชลบุรี และประธานกำนัน และผู้ใหญ่บ้านอำเภอชลบุรี ได้เปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า ชลบุรี ชื่อบัญชี "เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคโควิด-19 และผู้เฝ้าติดตามของอำเภอเมืองชลบุรี" หมายเลขบัญชี679-1-31904-6 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเงินสนับสนุนเกือบล้านบาทแล้ว "ดังนั้น เมื่อชลบุรีโมเดล ทำประสบสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งเป้าไว้ ผมจะขออนุญาตนำเสนอต่อ ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไปใช้ในระดับชาติ โดยใช้เงินสะสมของท้องถิ่นมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นผมเชื่อว่าเงินที่สูญเสียไปบ้างแต่การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดควบคุมได้ มันคุ้มกันครับ และสอดคล้องกับความห่วงใยของท่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พปชร. ที่ต้องการให้ส.ส.ดูแลชาวบ้านอย่างใกล้ชิด" ขณะที่ สวนดุสิตโพล จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ถึงการรับรู้ข้อมูล ข่าว สารโควิด-19 จากแหล่งใดมากที่สุดพบว่าร้อยละ 78.30 ระบุว่า ออนไลน์ ร้อยละ 77.05 ระบุ สถานีโทรทัศน์ ร้อยละ 60.69 ระบุ คำบอกเล่า/เพื่อน/คนรอบข้าง ร้อยละ 45.52 ระบุ สื่อสิ่งพิมพ์ และร้อยละ 44.73 ระบุ ข้อความเอสเอ็มเอส ส่วนประชาชนเชื่อถือข่าวโควิด-19 จากแหล่งใดมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 89.00 ระบุ สถานีโทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 63.09 ระบุ สื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนข่าวโควิด-19 กรณีใดที่ทำให้ประชาชนจิตตกมากที่สุดนั้น ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.08 ระบุ เชื้อโรคติดต่อได้ง่าย สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรง รองลงมา ร้อยละ 30.59 ระบุยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศ ร้อยละ 26.93 ระบุการบริหารจัดการของภาครัฐ มาตรการ การแก้ไขปัญหา ร้อยละ 18.90 ระบุผู้ติดเชื้อไม่ยอมกักตัวเอง ฝ่าฝืน ปกปิดข้อมูล และร้อยละ 14.23 ระบุการปล่อยข่าวลือ ข่าวปลอม เฟคนิวส์ ขณะที่ประชาชนอยากให้มีการนำเสนอข่าวโควิด-19 ในลักษณะใดพบว่าร้อยละ 54.55 ระ บุ เสนอข่าวที่เป็นจริง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ปิดบังข้อมูล