วันที่ 29 มีนาคม 2563 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย พล.ต.จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3, พล.ต.สืบสกุล บัวระวงศ์ ผบ.มทบ.33 นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผบช.ภ.5, พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่, นายวุฒิชัย โสมวิภาต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวการเปิดศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ (ส่วนแยก) ถึงความคืบหน้าสถานการณ์การเกิดไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 3 สภ.ภูพิงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเปิดศูนย์ฯ ในวันนี้เป็นการเปิดศูนย์ฯ แห่งที่ 4 ที่มีขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง สภ.ภูพิงค์ จะเป็นจุดหลักในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเรื่องการเผาป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เนื่องจากปัจจุบันมีการเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อย่างต่อเนื่องและสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกิดมลพิษทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น ทางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนจากเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 กองบิน 41 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และประชาชนอาสาสมัคร เข้าดำเนินการดับไฟป่าภาคพื้นดินตลอดทั้งวันทั้งคืน และทางอากาศ ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์แบบ MI 17 จากกองทัพบก เฮลิคอปเตอร์ KA-32 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งในช่วงบ่ายวันนี้เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟป่าที่เกิดขึ้นจุดสุดท้ายบริเวณน้ำตกมณฑาธารได้แล้ว ด้านนายวุฒิชัย โสมวิภาต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กล่าวว่า สาเหตุการของไฟป่าเกิดจากการลักลอบเผาป่าเพื่อล่าสัตว์หลังจากนี้ได้มีการปรับแผนการปฏิบัติงานโดยมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งอาสาสมัครภาคประชาชน เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในพื้นที่สำคัญคือ ป่ารอบพื้นที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์และวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รวมถึงพื้นที่ป่าที่ยังไม่ถูกไฟไหม้โซนด้านล่างของหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน ,ป่ารอยต่ออำเภอแม่ริมและอำเภอหางดง หากพบการเกิดไฟจะต้องเข้าดับทันทีไม่ให้เกิดการลุกลาม อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านได้เกิดไฟป่าไหม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย อีกครั้ง บริเวณเชิงดอยใกล้กับวัดผาลาด ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภาคพื้นดิน ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ,ทหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังระดมกำลังช่วยกันดับไฟที่เกิดขึ้น ซึ่งไฟค่อนข้างรุนแรงเพราะมีเชื้อเพลิงสะสมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่เคยเกิดไฟป่าขึ้นหลายปีแล้ว นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของจังหวัด ได้เร่งระดมกำลังในระดับอำเภอ แต่ปัจจุบันได้เพิ่มความเข้มงวดไปถึงระดับหมู่บ้าน เพราะในชุมชนจะทราบว่าในพื้นที่ตนเองมีใครเข้าไปในป่าและดำเนินการอะไรบ้าง หากหมู่บ้านเข้มแข็ง ก็จะทำให้เกิดจุดความร้อนที่ลดลง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สภาพอากาศในพื้นที่เชียงใหม่ได้รับผลกระทบทำให้สุขภาพประชาชนแย่จากมลพิษที่เกิดจากไฟป่า กลายเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพ จึงต้องเร่งดำเนินการลดการเผาในพื้นที่ให้เร็วที่สุด สำหรับ สถานการณ์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จากการประเมินเบื้องต้นมีพื้นที่เสียหายจากไฟป่าแล้วไม่ต่ำกว่า 2,400 ไร่ ปัจจุบันได้เน้นกำลังป้องกันบริเวณโดยรอบวัดพระธาตุดอยสุเทพ และบริเวณพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นหลัก เพราะถือเป็นสถานที่สำคัญ และได้ลดกำลังเจ้าหน้าที่ในจุดที่มีการดับไฟแล้ว ไปในจุดที่ยังไม่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อลาดตระเวน ฝังตัว และป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะจุดที่ไม่เคยเกิดไฟป่ามาก่อนต้องเร่งป้องกัน ส่วนจุดที่เกิดไฟป่ามาแล้ว สาเหตุที่ลดเพราะเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ถูกเผาไหม้ไปแล้ว และคงไม่เกิดซ้ำอีก หรือเกิดก็จะเป็นไฟที่ลุกไหม้จากการที่มีควันแล้วมีลมพัด ทำให้ตอไม้ที่ยังมีควันอยู่เกิดไฟลุกไหม้อีกครั้ง แต่ก็จะไม่ลุกลาม เนื่องจากพื้นที่โดยรอบนั้นเชื้อเพลิงหมดไปแล้ว.