"เสรีภาพสื่อไม่เคยถูกคุกคามอย่างที่เป็นอยู่เช่นขณะนี้มาก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการเฝ้าระวัง และความเข้มแข็งของอำนาจเผด็จการทั่วโลกกำลังทำลายเสรีภาพสื่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องห่วงกังวล แม้แต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม" นี่เป็นส่วนหนึ่งในรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2560 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) หรือ Reporters sans frontieres (RSF) ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่จะมาถึงในวันที่ 3 พ.ค. นี้ รายงานของอาร์เอสเอฟฉบับดังกล่าวได้เน้นในกรณีที่แม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ และสหรัฐฯ ที่เสรีภาพสื่อถูกคุมคามอย่างหนัก โดยเฉพาะการที่สื่อถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และช่วงลงประชามติเบรกซิตออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งในปีนี้ ดัชนีเสรีภาพสื่อของทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างร่วงลง 2 อันดับมาอยู่ที่ 43 และ 40 ตามลำดับ รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2560 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ในขณะที่ กลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเช่นเดิม ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ส่วน 5 ประเทศรั้งท้ายจาก 180 ประเทศที่ทำการจัดอันดับในปีนี้ได้แก่ จีน ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน เอริเทรียและเกาหลีเหนือ "การโจมตีสื่อกลายเป็นเรื่องธรรมดา และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเราได้มาถึงยุคของความจริงไม่สำคัญ หรือไม่มีความหมายเท่าอารมณ์รับรู้ การโฆษณาชวนเชื่อ และการปิดกั้นเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย" "การขึ้นสู่อำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ และการรณรงค์เบรคซิต เต็มไปด้วยความแปดเปื้อนของการถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสื่อชั้นนำที่มีชื่อเสียง วาทกรรมต่อต้านสื่อ ได้ผลักโลกไปสู่ยุคใหม่ของการบิดเบือนข้อมูล และข่าวปลอม" รายงานระบุ กรณีของนักข่าวที่ถูกคุกคาม คุมขัง หรือถูกทำให้หายสาบสูญ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ทั่วโลก ครอสตอฟ เดลอยเร เลขาธิการอาร์เอสเอฟ และไมเคิล เลริดอน ผอ.ข่าวรอบโลกของเอเอฟพี ได้ยกตัวอย่างหลายเคสที่น่าสนใจ อาทิ นาร์เกส โมฮัมมาดิ ผู้สื่อข่าวชาวอิหร่าน ที่มีบทบาทในการรณรงค์ต่อต้านโทษประหาร ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่สามีของเธอซึ่งเป็นนักข่าวเช่นกัน ก็ถูกจำคุก 14 ปี ก่อนที่จะหนีไปอยู่ฝรั่งเศส อาเหม็ด อับบา ผู้สื่อข่าวของ เรดิโอ ฟรานซ์ อินเตอร์เนชันแนล ในแคเมอรูน ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี จากข้อหาว่าเขาเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮาราม ซึ่งผอ.ข่าวเอเอพฟีรุบ่า เคสนี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความผิดเขาด้วยซ้ำ กรณีของดาวิต อิซาค ผู้สื่อข่าวเชื้อสายสวีเดน - เอริเทรีย ถูกคุมตัวโดยปราศจากการไต่สวนโดยทางการเอริเทรียตั้งแต่ปี 2544 เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระฉบับแรกของประเทศ เพื่อเปิดโปงเรื่องฉาวโฉ่ ซึ่งเขาได้รับรางวัลเวิร์ล เพรส ฟรีดอม ของยูเนสโกประจำปีนี้ สื่อมวลชนทำงานด้วยความยากลำบาก ตกอยู่ใต้ความหวาดกลัว ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง นักข่าวพลเมืองอย่างหลู หยูหยู และหลี่ ติงหยู ชาวจีนหายสาบสูญไปตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการเปิดเผยว่า ถูกตำรวจควบคุมตัวในยูนนาน ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกับมาห์มูด อับเดล ชาเกอร์ ช่างภาพชาวอิยิปต์ ที่ถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ปี 2556 สถานการณ์ในตุรกี ซึ่งติดอันดับโลกในเรื่องของการจำคุกนักข่าวในประเทศตัวเอง ขณะที่ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ในบาห์เรนห้ามผู้สื่อข่าวเอเอฟพีเข้าไปประจำการ ที่บุรุนดี เอเอฟพีต้องถอนคนของตนออกมา ขณะที่ ผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ในเวเนซุเอลา คองโก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก็ถูกข่มขู่คุกคามอยู่เสมอ ยังไม่นับรวมมาตรการที่หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะในแถบแอฟริกามักใช้กัน อาทิ จิบูติ เอริเทรีย หรือซิมบับเว ที่ปฏิเสธไม่ออกหรือต่อวีซ่าให้นักข่าว สำหรับประเทศไทย ตามรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2560 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนอยู่ที่อันดับ 142 ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 6 อันดับ ติดอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือสถานการณ์ยากลำบาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแม้สถานการณ์เสรีภาพสื่อไทยจะยังดีกว่ามาเลเซีย (อันดับ 144) สิงคโปร์ (อันดับ 151)บรูไน (อันดับ156) ลาว (อันดับ 170) และเวียดนาม (อันดับ 175) แต่ก็ยังตามหลังกัมพูชา (อันดับ 132) เมียนมา (อันดับ 131) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 127) อินโดนีเซีย (อันดับ 124) และติมอร์ เลสเต (อันดับ 98) ๐ เสรีภาพสื่อตกต่ำ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกคุกคาม ส่งผลต่อสังคมอย่างไร??? "ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม" อุปนายก ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จะกระทบต่อประชาชนในแง่ที่ไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการต่างๆ ได้ ประชาชนเสียสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีการตรวจสอบว่ามีการรั่วไหลของงบประมาณหรือไม่ สังเกตได้ว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา หลายโครงการที่มีงบประมาณสูงๆ เมื่อสื่อตรวจสอบ ก็จะถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ กดดันจากอำนาจระดับบนให้ยุติการนำเสนอข่าวสาร "ในยุคของคสช. มีประกาศของคสช. ประมาณ 2 - 3 ฉบับมาควบคุมการทำงานของสื่อในช่วงสามปีที่ผ่านมา หลักๆ คือห้ามมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่จะกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สื่อไหนที่ตรวจสอบรัฐบาลมากๆ ก็จะถูกปรับทัศนคติ ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ต้องเซนเซอร์ตัวเองค่อนข้างมาก ทำให้ข่าวต่างๆ ที่ประชาชนได้รับนั้น ไม่ค่อยจะมีข้อเท็จจริงที่เป็นการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งๆที่ รัฐบาลได้ใช้อำนาจแทนประชาชนในการบริหารงบประมาณ ภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาล" ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม	 อุปนายก ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ๐ ดัชนีเสรีภาพสื่อไทยร่วง 6 อันดับ สะท้อนภาพความจริงสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่? อุปนายกฝ่ายสิทธิฯ สมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า ถ้ามองเสรีภาพสื่อในแง่การตรวจสอบอำนาจรัฐอันนี้ถูกต้องว่าเสรีภาพลดลงอย่างแน่นอน และลดลงค่อนข้างเยอะ เพราะสื่อตกอยู่ในบรรยากาศของความหวาดกลัว ก็ต้องเซนเซอร์ตัวเอง เวลานำเสนอข่าวที่ตรวจสอบรัฐ ก็จะถูกมองว่ากระทบต่อบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ไม่เป็นข่าวที่สร้างสรรค์ และยังลามไปถึงเรื่องที่ว่า สื่อทำให้นานาชาติมองประเทศไทยไม่ดี แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง ก็บอกว่า อยากให้สื่อออมาเขียนข่าวด้านบวก สนับสนุนโครงการของรัฐบาล เหมือนบอกให้สื่อทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ แต่เสรีภาพของสื่อจะต้องกล้าพูดความจริง นำเสนอข้อมูลโดยที่ไม่เกรงต่ออิทธิพลใดๆ เพื่อความถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของสังคม