จากเหตุการณ์ปลากะพงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ลอยตายติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รวมจำนวนหลายสิบตัน ทำให้ผู้เลี้ยงปลาได้รับความเดือดร้อนนั้น นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง มาตั้งแต่เกิดเหตุ ซึ่งขณะนี้ ได้รับรายงานว่า ปริมาณการตายของปลากะพงขาวลดลงแล้ว โดยปลาที่ตายส่วนใหญ่จะเป็นปลากะพงขาว ขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3–5 กิโลกรัมต่อตัว และจากการเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณเกิดเหตุไปตรวจ พบว่าคุณภาพน้ำผิดปกติ มีค่าออกซิเจนเพียง 0.9–2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่าออกซิเจนที่เหมาะสมสำหรับสัตว์น้ำควรมากกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร) ซี่งน่าจะมาจากหลายสาเหตุหลายปัจจัยของสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าว อาทิ การเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำอย่างฉับพลัน เพราะมีการระบายน้ำจืดลงสู่ทะเลสาบเนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้แพลงก์ตอนพืชลดลงอย่างรวดเร็ว การสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืชในช่วงที่มีแสงก็ลดลง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง อีกทั้ง บริเวณแหล่งเลี้ยงปลากระชังมีสภาพตื้นเขิน มีความลึกของน้ำอยู่เพียง 1–1.5 เมตร และพื้นที่เลี้ยงมีลักษณะเป็นอ่าวทำให้มีการไหลเวียนของกระแสน้ำน้อย ประกอบกับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 เป็นช่วงน้ำตาย น้ำมีการขึ้นลงน้อย ผนวกกับอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงมาก การละลายและหมุนเวียนของออกซิเจนจึงน้อยลง นอกจากนี้ ยังพบว่าปลากะพงขาวในกระชังเลี้ยงของเกษตรกร มีขนาดตัวที่โต จึงมีความหนาแน่นมาก เมื่อออกซิเจนในน้ำน้อย จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของปลาตัวใหญ่และจำนวนมากขนาดนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดจากสภาวะการขาดออกซิเจนและช็อคตาย จากข้อมูลพื้นที่ตำบลเกาะยอ จำนวน 9 หมู่บ้าน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง จำนวน 323 ราย จำนวน 1,838 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 81,147 ตารางเมตร โดยพบว่ามีจำนวนเกษตรกร จาก 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 9 ที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ 40 ราย มีปริมาณสัตว์น้ำที่ตาย ประมาณ 80 ตันท(80,000 กิโลกรัม) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 12 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมประมงได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน :(1) แนะนำให้เกษตรกรเร่งเพิ่มออกซิเจน โดยวิธีปั๊มออกซิเจนร่วมกับใช้เครื่องสูบน้ำพ่นน้ำร่วมด้วย และอาจใช้ออกซิเจนผงในการเพิ่มออกซิเจนอีกทางหนึ่ง (2) ร่วมกับจังหวัดสงขลา หาทางเยียวยาและจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังโดยใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ ก่อนหน้าตั้งแต่เกิดเหตุ ทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลาก็ได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังเร่งจับปลาที่ได้ขนาดขายโดยด่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ช่วงนี้ หากปลากะพงที่เลี้ยงไว้ มีน้ำหนัก 0.8–1.0 กิโลกรัม ก็สามารถจับขายได้เลย ไม่ต้องรอให้โตเต็มที่ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ระยะยาว : ดำเนินการชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงปลากะพงขาวให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัญหาการตายของปลากะพงขาวบริเวณเกาะยอ เป็นปัญหาสำคัญและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน และทุกครั้งที่ไปตรวจสอบก็จะเป็นเพราะสาเหตุเดียวกัน คือ ปริมาณออกซิเจนในน้ำน้อยกว่าที่สัตว์น้ำจะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนอัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยง การวางกระชังเลี้ยงในทะเลต้องให้มีระยะห่างพอสมควร เพื่อให้การไหลเวียนของน้ำสะดวกขึ้น และพื้นที่ที่เกิดปัญหาปริมาณออกซิเจนต่ำบ่อยๆ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเพิ่มออกซิเจนสำรองไว้เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะเกิดปัญหาอีก อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้าย ว่าขอให้เกษตรกรในทุกพื้นที่ติดตามการรายงานสภาพอากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหมั่นดูแลปลาที่เลี้ยงไว้และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง หากพบความผิดปกติของปลาที่เลี้ยงไว้ขอให้แจ้งไปยังสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้าน