“ประวิตร” สั่ง “กรมประชาฯ” เร่งแจงผลงานรัฐบาล พ้อถูกมองรัฐบาลขาลง-ไร้ผลงาน ด้าน “มท.1” เผย เร่งซ่อมแซมบ้านปชช.น้ำท่วมใต้กว่าหมื่นหลังแล้วเสร็จ 10 จว. พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ครั้งที่ 2/560 โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า เรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล ทั้งหมดเป็นการดำเนินการของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปชี้แจง และสร้างการรับรู้ให้มากกว่านี้ จะมาบอกว่ารัฐบาลขาลง โธ่ ทุกหน่วยเขาก็ลงไปทั้งหมด ส่วนกรณีน้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมาต้องไปหาทางระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม จะมาบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร มันไม่ใช่ เราไม่ใช่ทำฟรีเหนื่อยฟรี ทุกสิ่งทุกอย่างรัฐบาลทำทั้งนั้น ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ ช่วยชี้แจงไปยังประชาชนให้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่ามันยังเข้าไม่ถึงเท่าที่ควร ด้านพล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะรองประธานกปภ.ช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยได้ทำการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่เสียหายรวม 11,818 หลัง แยกเป็น เสียหายบางส่วน 11,504 หลัง ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด เสียหายทั้งหลัง 314 หลัง ดำเนินการแล้วเสร็จ 284 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 หลัง โดยจังหวัดที่ดำเนินการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ มี 10 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนด้านการประกอบอาชีพ มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 243,388 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 57,323 ราย มูลค่าความเสียหาย 522.84 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ให้การช่วยเหลือตามระเบียบของราชการแล้ว 305.79 ล้านบาท สำหรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับจังหวัดดำเนินการสำรวจ ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยใช้ผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ ซึ่งในระยะเร่งด่วน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางแผนการจัดทำผังน้ำ เพื่อแสดงทิศทางการไหลของน้ำ แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ผังระบบระบายน้ำของจังหวัด และปรับปรุงระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงกำหนดพื้นที่น้ำหลาก ตลอดจนนำมาตรการด้านผังเมืองมาใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว