ซีพีเอฟ เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่” สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDGs พร้อมกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุท์ 11 เป้าประสงค์ รองรับความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทบทวนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตระหนักดีถึงบทบาทของภาคเอกชน ในการมีส่วนร่วมและผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก จึงได้ประสานสหประชาชาติ (Sustainable Development Goas : SDGs)เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายกลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน ร่วมสนับสนุน 9 เป้าหมายจาก 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ซึ่งสอดคล้องกับขีดความสามารถและศักยภาพของบริษัทฯ มาร่วมสนับสนุน อันนำมาสู่การกำหนด “เป้าหมาย 2563” 11 เป้าประสงค์ ซึ่งถือเป็นทิศทางความยั่งยืนที่สำคัญของ ซีพีเอฟ ภายใต้กลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า การดำเนินงานในปี 2560 ภายใต้เสาหลัก “อาหารมั่นคง” เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมาย ไม่มีเหตุการณ์เรียกคืนสินค้า และมุ่งเน้นสุขโภชนาการ เพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีแก่ผู้บริโภค โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ (New Product Development : NPD) ร้อยละ 15 (เป้าหมาย ร้อยละ 30 ในปี 2563) นอกจากนี้ เดินหน้าส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน 206,000 คน มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้หรือทักษะในด้านการผลิตอาหาร และ/หรือด้านการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการและปลอดภัย (เป้าหมาย 300,000 คนในปี 2563) ส่วนเสาหลัก “สังคมพึ่งตน” ด้านการพัฒนาคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน ในปี 2560 มีเป้าหมาย คือ ร้อยละ 30 ของคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ กลุ่มเครื่องปรุงและกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน (เป้าหมาย 100% ในปี 2563) ขณะเดียวกัน วัตถุดิบหลักทางการเกษตรต้องผ่านการจัดหาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและตรวจสอบย้อนกลับได้ ด้วยเป้าหมาย ร้อยละ 40 ของกากถั่วเหลือง มาจากการจัดหาอย่างรับผิดชอบ (เป้าหมาย 100% ในปี 2563) สำหรับ ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ปีนี้จะส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง จำนวน 33,000 ราย (เป้าหมาย 58,000 คนในปี 2563) ขณะที่เสาหลัก “ดินน้ำป่าคงอยู่” ด้านการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปี 2560 ตั้งเป้าหมายอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ลดปริมาณการใช้พลังงาน (เป้าหมายลดร้อยละ 5 ในปี 2563) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เป้าหมายลดร้อยละ 5 ในปี 2563) ลดปริมาณการนำน้ำมาใช้ (เป้าหมายลดร้อยละ 10 ในปี 2563) ลดปริมาณของเสีย (เป้าหมายลดร้อยละ 30 ในปี 2563) ต่อหน่วยการผลิต เทียบกับฐานปี 2558 และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าชายเลนและป่าต้นน้ำในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ โดยมีเป้าหมายการดำเนินการในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 5,816 ไร่ ผ่านโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน และโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง (เป้าหมาย 9261 ไร่ ในปี 2563) นายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี ซึ่งจัดทำเป็นปีที่ 6 ภายใต้การจัดทำรายงาน ตามแนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI-G4) และนับเป็นปีที่ 3 ที่บริษัทฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมรับการประเมิน DJSI ประจำปี 2560 ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนในระดับโลก ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ การเข้าร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์และคำมั่นของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยบริษัทฯ มีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมประเด็นความยั่งยืน ที่กำหนดฐานรายงานความยั่งยืน ซึ่งในปี 2559 สามารถยกระดับการรายงานในระดับ Advance Level จากปีที่ผ่านมาเปิดเผยในระดับ Active Level