ประกาศมาตรการ เพิ่ม-ลด บริการ เพื่อประสิทธิภาพเท่าทันสถานการณ์วิกฤติ โดยเพิ่มบริการตั้งคลินิกโรคทางเดินหายใจ ย้ำขอความร่วมมือผู้ป่วย-ญาติต้องพูดความจริงอย่าปกปิด แผนกฉุกเฉิน 24 ชม. และงดนัด-ผ่าตัดเคสไม่เร่งด่วน ลดเตียงห้องพิเศษรับมือสถานการณ์ อ. นพ. ดร.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (รพ.มทส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำลังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงในวงกว้างขึ้นและมีผู้ติดเชื้อในอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การระบาดเข้ามาถึงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นที่ตั้งทำการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและกระจายทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้การเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันภัยสุขภาพของโรงพยาบาล มทส. เท่าทันสถานการณ์ มหาวิทยาลัยจึงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center, EOC) มีอธิการบดีเป็นที่ปรึกษา พร้อมตั้งคณะทำงานอำนวยการ ประกอบด้วย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล เพื่อรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์เป็นระยะ ติดตาม ตรวจจับ วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ พร้อมเป็นศูนย์ข่าวสารแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการตัดสินใจเปิด – ปิดบริการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ติดตามข้อมูล ประกอบการวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ ประกอบการตัดสินใจ ในการประสานจัดการกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินแก่หน่วยงานภายในและภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ยังได้ประกาศมาตรการ ลดและเพิ่มงานบริการทางการแพทย์บางส่วนเพื่อรองรับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล ดังนี้ เพิ่มการจัดตั้งคลินิกโรคทางเดินหายใจ ณ อาคารสร้างเสริมสุขภาพ เปิดทำการทุกวัน เวลา 8:00 - 20:00 น. เพื่อให้บริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่มีอาการทางเดินหายใจโดยเฉพาะ คัดกรองตามเกณฑ์ความเสี่ยงและเกณฑ์ต้องสงสัย COVID-19 โดยผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดการสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบตัว และสำคัญที่สุดคือ คือ ขอความร่วมมือผู้ป่วยและญาติต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยและลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้วางแนวสุขอนามัยเบื้องต้น เช่น มาตรการการคัดกรอง การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเข้าอาคาร การจัดเก้าอี้นั่งรอตรวจห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร ตามแนวทาง Social Distancing นอกจากนี้ ยังวางแผนเตรียมการดูแลและจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องสงสัย กรณีผู้ป่วยอาการคงที่และช่วยเหลือตนเองได้จะอนุญาตให้เยี่ยมผ่านเครื่องมือสื่อสาร ในกรณีผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อนุญาตให้ญาติเฝ้าได้ 1 คนต่อเตียงเท่านั้น แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะหมดสติ ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว การรู้ตัวหรือการรับรู้เปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน แขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดเฉียบพลัน ชักเกร็ง หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจติดขัด หายใจมีเสียงผิดปกติ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดสดปริมาณมาก เจ็บหน้าอกเฉียบพลันและรุนแรงเหงื่อออก ตัวเย็น ซึมลง เจ็บครรภ์คลอด ภาวะน้ำเดิน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก อาคารรัตนเวชพัฒน์ ในวันเวลา ทำการ เวลา 8.00 – 16.00 น. วันหยุดทำการและวันหยุดราชการ เวลา 8.00 – 12.00 น. ส่วนการลดงานบริการในโรงพยาบาล เช่น งดการนัด และการผ่าตัดในกรณีไม่เร่งด่วน (กรณีฉุกเฉินให้บริการตามปกติ) งดให้บริการตรวจสุขภาพ (checkup) ผู้ป่วยนอกกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาการคงที่ ให้เพิ่มระยะเวลาระหว่างนัด หรือการส่งเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ เป็นต้น ลดจำนวนเตียงผู้ป่วยห้องพิเศษ เพื่อเตรียมสถานที่และอัตรากำลัง รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ รองรับสถานการณ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ยังคงให้บริการเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น (ตลอด 24) ชั่วโมง ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป