โควิดพ่นพิษ ผู้ประกอบการโรงแรมชื่อดังที่บุรีรัมย์ ประกาศปิด 3 เดือน และจ่อปิดเพิ่มอีกเกือบ 10 แห่ง เหตุไม่มีลูกค้าเข้าพัก งดประชุม สัมมนายับยั้งการระบาด ทำให้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟไม่ไหว วอนรัฐบาลหากสถานการณ์คลี่คลายลงให้เร่งออกมาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยเร็ว เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ วันนี้(27 มี.ค.63 ) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มียอดผู้ติดเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะไม่มีลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวเข้าพัก รวมถึงการออกมาตรการงดจัดประชุม สัมมนา ทำให้ต้องขาดรายได้ ล่าสุดผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีโรงแรม 2 เฟส คือ เทพนคร และอัลวาเรซ ซึ่งมีห้องพักเกือบ 400 ห้อง ได้ประกาศปิดโรงแรมอัลวาเรซชั่วคราว เบื้องต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว ทั้งต้องงดการจัดประชุม สัมมนา ทำให้ไม่มีรายได้เข้าเลย แต่กลับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และค่าดูแลรักษาเฉลี่ยเดือนละเกือบ 2 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องประกาศปิดชั่วคราว ส่วนในช่วงที่ปิดก็จะจ่ายชดเชยเยียวยาให้กับพนักงานตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ แต่หากสถานการณ์คลี่คลายลงก็จะเปิดให้บริการและพนักงานก็จะได้รับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม ซึ่งพนักงานทุกคนก็เข้าใจในสถานการณ์ นายวสันต์ เทพนคร เจ้าของโรงแรมเทพนคร และอัลวาเรซ บอกว่า หลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบไม่มีงานประชุม สัมมนา และลูกค้าเข้ามาใช้บริการน้อยมาก จากเกือบ 400 ห้อง เหลือเพียง 10 ห้องเท่านั้น จากผลกระทบดังกล่าวก็พยายามหาวิธีประคับประคองมาเรื่อย ทั้งการปรับลดราคาค่าห้องพัก ลดชั่วโมงทำงานของพนักงานลง แต่สถานการณ์การระบาดของเชื้อก็ยังไม่ดีขึ้น จึงได้ตัดสินใจปิดโรงแรมอัลวาเรซ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลงเบื้องต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็อาจจะยืดระยะเวลาออกไปอีก จนกว่ารัฐจะสามารถยับยั้งการระบาดได้ ทั้งนี้​ ได้มีผู้ประกอบการโรงแรมอีกเกือบ 10 แห่ง ที่เจอสภาวเดียวกันและคาดว่าน่าจะทยอยปิดเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็อยากวิงวอนให้รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการโรงแรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้ เพราะโรงแรมส่วนใหญ่จะกู้เงินธนาคารมาลงทุน พร้อมทั้งเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถอยู่รอด