และแล้วก็มาถึงวันที่รัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังอยู่ในช่วงสุกงอมของการระบาด ซึ่งหากไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเดือนหน้าซึ่งเป็นวันสงกรานต์ แม้รัฐบาลจะประกาศไม่เป็นวันหยุด แต่ถึงอย่างไรประชาชนก็ยังคงเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการประกอบอาชีพของประชาชนประสบปัญหา เนื่องจากประชาชนมีความกังวลว่าจะได้รับไวรัสโควิด-19 จากในพื้นที่ต่างๆ เมื่อต้องออกไปพบปะบุคคลอื่นทำให้ไม่กล้าออกที่จะไปไหน จำเป็นต้องเก็บเงินสำรอง และของใช้ส่วนตัวในยามคับขัน แต่ทั้งนี้ก็ถือว่ารัฐบาลกล้าที่จะตัดสินใจใช้ยาแรงที่สุดในการประกาศ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่า “ยอมเจ็บ แต่จบ” ทั้งนี้ “คณะกรรมการนโยบายการเงิน” (กนง.) ระบุว่า กนง.คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 5.3% ในปี 63 ก่อนจะกลับมาขยายตัว 3% ในปี 64 โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากไวรัสโควิด-19 ระบาดรุนแรง และยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า การส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มหดตัวแรง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะลดลง -8.8% แต่จะกลับมาขยายตัวได้ในปี 64 ที่ 0.2% การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลง -1.5% ตามปัจจัยด้านรายได้ การหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายนอกบ้าน และปัญหาภัยแล้ง ก่อนจะกลับมาทรงตัวในปีหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.1% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลง -4.3% ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แต่จะค่อยกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า ที่ 2.2% ส่วนการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐในปีนี้ แม้คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.8% แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ ขณะที่ความช่วยเหลือเศรษฐกิจทางตรง และทางอ้อมนั้น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเสริมสภาพคล่องให้ ผู้ประกอบการ คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบ อาทิ มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆจะได้รับเงินสนับสนุนรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ,โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19รายละไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ,โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ,โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพื่อเสริมสภาพคล่อง วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี และมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรสุดท้าย!!! เราเองก็ต้องไม่งอกมือรอรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว ต้องดิ้นรนหารายได้มาจุนเจือในยามวิกฤติเช่นนี้ เพราะแทบทุกอาชีพได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันหมด แม้แต่นักร้องที่มีชื่อเสียง มีผลงานมากมาย ยังไม่มีคนจ้าง อย่าง “กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่” ที่เวลานี้ไม่สิ้นหวังกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ด้วยการ “ขายหมูปิ้ง” สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจว่า “ตอนนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ใครๆ ก็สามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้ หากมองหามุมดีๆ เจอและปลดแอกตัวเองออกจากเซฟโซนที่เคยอยู่ อาจมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่รอให้เราทุกคนได้พบกับวันดีๆ อีกครั้งก็เป็นได้” ดังนั้นเชื่อว่า “ถ้าทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ ยอมที่จะเจ็บ แต่สามารถที่จะจบปัญหานี้ได้” แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จะนำพาเศรษฐกิจสู่ทางออกได้อย่างแน่นอน!!!