ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “โลกมีต้นไม้เป็นชีวิตของจิตวิญญาณแห่งการดำรงอยู่/เป็นตัวตนที่เปิดรับการกระทำของสรรพสิ่งที่กว้างใหญ่และเร้นลึกที่สุด/มีครรลองของความหมายอันหลากหลายที่ผันแปรอยู่ ณ ที่นั้น/มีสำเนียงของความเป็นไปอันหลากถ้อยเจตจำนงที่ฝังแน่นอยูในบริบทอันกว้างไกลของป่า../และ..มีความจริงของความฝันอันนับเนื่องเป็นอัศจรรย์อยู่ กับกิ่งก้านสาขา...ที่ไม่รู้จบรู้สิ้น...” นัยแห่งต้นไม้...ถือเป็นชีวิตที่เร้นลับ/..ที่เชื่อกันว่า...มันมีความลับอยู่มากมายที่ซ่อนอยู่นับแต่ใต้ผืนดินไปจนถึงยอดไม้/...ต้นไม้มีการสื่อสารในหมู่พวกมัน...แบ่งปันอาหารซึ่งกันและกัน/ช่วยเหลือเกื้อกูลและปกป้องพวกเดียวกันเอง/ หรือแม้แต่ปกป้องเพื่อนข้ามสายพันธุ์/พวกมันต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการกว่าจะเติบโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่/และกลายเป็นชุมชนป่าไม้ดั่งที่เราเห็น... ทั้งหมดนั้น...คือที่มาแห่งการรับรู้ถึงว่า..ต้นไม้รู้สึกอะไร..สื่อสารกันอย่างไร...เปิดโลกเร้นลับสุดจินตนาการ!/ในความเป็นชีวิตอย่างไร?/...ผ่านหนังสืออันมีค่ายิ่ง ที่เขียนขึ้นโดย “เจ้าหน้าที่ป่าไม้” ชาวเยอรมันผู้คร่ำหวอดอยู่กับการจัดกิจกรรม” การเอาชีวิตรอดในป่า/ผู้ระบุตัวเองว่า..รู้จักชีวิตอันลึกลับของต้นไม้พอๆกับคนขายเนื้อสัตว์ที่เข้าใจความรู้สึกของสัตว์ .. “เพเทอร์ โวลเลเบน” ในชื่อ “ชีวิตเร้นลับของต้นไม้” (The Hidden Life Of Trees) ว่ากันว่า... “เมื่อใดก็ตามที่ต้นไม้สามารถเติบโตได้อย่างเหมาะสมกับสภาพของมัน มันก็จะทำหน้าที่ที่มีคุณประโยชน์ยิ่งกว่าการผลิตไม้/ดังที่ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้หลายฉบับ...ในที่นี้ผมกำลังหมายความว่าเราจะต้องให้ความคุ้มครอง และปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวมันเอง/..การอภิปรายที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันระหว่างองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับผู้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ได้ผลเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ/เช่น กรณีป่าไม้ที่ “เคอนิสดอร์ฟ” ทำให้เกิดความหวังสำหรับอนาคตว่าป่า..จะได้ใช้ชีวิตที่เร้นลับของมันต่อไป และ ลูกหลานของเราก็จะยังมีโอกาสได้เดินเล่น..ท่ามกลางต้นไม้เหล่านั้นด้วยความพิศวง/...นี่แหละคือความสำเร็จของระบบนิเวศเช่นนี้/...เป็นความสมบูรณ์ของชีวิตนับหมื่นๆ ชนิดที่อยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน...” ภาวะแห่งการอธิบายโดยสรุปตรงส่วนนี้ของผู้เขียน..ถือเป็นบทเริ่มต้นแห่งการอธิบายสู่การโน้มนำเข้าสู่สายสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้ทั่วโลกกับพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆที่มีความสำคัญเพียงใดนั้น/ผู้เขียนได้ใช้เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งจากญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างแสดงที่เห็นได้ชัด/...เรื่องราวของ “คัทสึฮิโกะ มิตสีนางะ” ...ผู้เป็นนักเคมีทางทะเลที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโด...ได้ค้นพบว่าใบไม้ที่ร่วงหล่นลงไปในแม่น้ำลำธาร ได้ทำให้เกิดกรดที่ไหลลงสู่ทะเล และกรดเหล่านั้นได้กระตุ้นการเติบโตของแพลงก์ตอนที่เป็นองค์ประกอบแรกที่สำคัญที่สุดของห่วงโซ่อาหาร นั่นหมายความว่าทำให้มีปลามากขึ้นหรือ?/นั่นคือความเร้นลับหนึ่ง!/...นักวิจัยผู้นี้ได้กระตุ้นให้มีการปลูกต้นไม้ที่บริเวณใกล้ชายฝั่ง/ ซึ่งจริงๆแล้วนับเป็นผลดีต่อการประมงและการเพาะปลูก... มันมิใช่เป็นเพียงประโยชน์เชิงรูปธรรมเท่านั้นที่เป็นเหตุผลว่า เราควรให้ความสนใจดูแลต้นไม้...แต่ปริศนาเล็กๆน้อยๆ และความมหัศจรรย์ที่ต้นไม้มอบให้แก่เรา...ทำให้เป็นเรื่องคุ้มค่าที่จะดูแลรักษาต้นไม้ไว้ให้อยู่ในสภาพดี/ภายใต้เรือนยอดที่ดกหนาเหล่านั้น... “มีเรื่องน่าตื่นเต้นหรือเรื่องราวความรักซาบซึ้งใจเกิดขึ้นได้ทุกวัน/...นี่คือธรรมชาติผืนสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่...และมันอยู่ตรงนี้!..ตรงหน้าประตูบ้านเรานี้เอง!/ …มีเรื่องผจญภัยและความลับอีกมากมายให้ค้นพบในธรรมชาติ..ใครจะรู้/ บางทีสักวันหนึ่งเราอาจจะถอดรหัสภาษาของต้นไม้ได้จริงๆ/ และนั่นจะเป็นวัตถุดิบให้เราได้พบเรื่องราวที่เหลือเชื่อต่อไป” โดยแท้จริงแล้ว...ต้นไม้มีธรรมชาติที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน/...แต่อย่างไรก็ตาม..เพียงเท่านี้ก็ไม่เพียงพอที่จะให้พวกมันอยู่รอดได้อย่างดีในระบบนิเวศของป่า/เพราะต้นไม้ทุกประเภทต่างพยายามที่จะแผ่ขยายกินพื้นที่ให้มากขึ้น/เจริญเติบโตให้ดีที่สุด จนสามารถเบียดต้นไม้สายพันธุ์อื่นออกไป/ นอกเหนือจากแสงแดดแล้ว ก็ยังมีการต่อสู้แย่งชิงน้ำ ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นตัวตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะ...รากของต้นไม้จะเชื่อมต่อกันในดินชื้นๆได้ดีมาก/มันสร้างขนเล็กๆบางๆขึ้น/เพื่อที่จะได้ครอบคลุมพื้นดินและดูดน้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้/ในสภาวะปกติ..การทำแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว/แต่ถ้าได้น้ำมากขึ้นก็ย่อมจะดีกว่า/ เหตุนี้ จึงเป็นเวลานับล้านปีที่ต้นไม้ได้สร้างสายสัมพันธ์กับเห็ดรา”...ซึ่งผู้เขียนก็ได้อธิบายแจกแจงถึงประเด็นอันเร้นลับที่สำคัญนี้อย่างน่าใส่ใจและค้นหาต่อไปว่า... “เห็ดราเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง/พวกมันไม่ได้เป็นทั้งสัตว์และพืช/และไม่ได้เป็นไปตามระบบการแบ่งประเภทของสิ่งมีชีวิตที่เรามีอยู่ระบบเดียว/..ถ้าจะว่ากันตามคำจำกัดความ พืชจะสร้างอาหารของมันเองจากสิ่งไม่มีชีวิต..ซึ่งก็หมายความว่าพวกมันเป็นอิสระไม่ขึ้นกับสิ่งอื่นใด/จึงไม่น่าประหลาดใจที่สิ่งมีชีวิตสีเขียวจะปรากฏขึ้นบนพื้นดินว่างเปล่าแห้งแล้ง/ก่อนที่พวกสัตว์จะมาถึง/ โดยพื้นฐานแล้ว..สัตว์จะมีชีวิตรอดได้ก็จะต้องบริโภคสิ่งที่มีชีวิตเป็นอาหาร/จะว่าไปแล้วไม่ว่าต้นหญ้าหรือต้นไม้อ่อนๆ ก็ไม่ชอบให้ฝูงวัวหรือกวางมากัดกินพวกมัน/...ไม่ว่าหมาป่าจะฉีกกินเนื้อหมูป่า หรือกวางจะกัดกินต้นโอ๊กอ่อนๆ/ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องราวของความเจ็บปวดและความตายทั้งสิ้น...” ดูเหมือนว่าสำหรับความเป็นชีวิตของป่าแล้ว.../ “เพเทอร์ โวลเลเบน” ได้เขียนถึงประเด็นสำคัญประการหนึ่งเอาไว้อย่างเน้นย้ำและจริงจังยิ่ง...นั่นก็คือประเด็นที่ว่า แสงถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับป่า/..ฟังดูอาจเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดามาก...แต่นัยนี้กลับเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลย/..เนื่องเพราะ จริงๆแล้ว...ต้นไม้คือพืชที่ต้องการสังเคราะห์แสงเพื่อที่จะมีชีวิตรอด/แต่..เป็นเพราะในสวนหลังบ้านของเรามักมีแสงแดดส่องลงมาอย่างเพียงพอที่แปลงผัก แปลงดอกไม้ และสนามหญ้า/สำหรับที่ตรงนั้น น้ำและสารอาหารที่สะสมอยู่ในพื้นดินจึงเป็นปัจจัยที่เด่นชัดมากกว่าสำหรับการเจริญเติบโตของพืช./.ในชีวิตประจำวัน...เราไม่ค่อยได้สังเกตว่า..แสงแดดมีความสำคัญกว่าปัจจัยสองอย่างนี้/เพราะเรามักจะเอาสถานการณ์ของตัวเราเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ/จึงทำให้เรามองข้ามไปว่าป่าที่สมบูรณ์นั้นมีปัจจัยอื่นๆที่สำคัญยิ่งกว่า.. “ในป่ามีการต่อสู้แย่งชิงแสงแดดกันจนวินาทีสุดท้ายที่แสงแดดส่องมา/พืชแต่ละชนิดจะมีความสามารถเฉพาะตัวในการเติบโต..ในลักษณะที่มันจะดูดขับพลังงานเอาไว้ได้ แม้จะน้อยนิดก็ยังดี/.เนื่องจากบริเวณชั้นบนสุดหรือจะเรียกว่าออฟฟิศผู้บริหารก็ได้ /ต้นบีช ต้นสนไพน์ และต้นสปรู๊ซได้แผ่เรือนยอดและดูดซับแสงอาทิตย์ไว้ได้ถึงร้อยละ 97 /ช่างโหดร้ายและไม่เห็นใจผู้อื่นจริงๆ!/แต่ที่จริงแล้ว..ต้นไม้ทุกประเภทก็ฉกฉวยทุกสิ่งที่มันจะฉกฉวยได้มิใช่หรือ?”.. และในการต่อสู้แย่งชิงแสงอาทิตย์นี้ ต้นไม้จะเป็นผู้ชนะเพราะมันมีลำต้นสูง/และ..ต้นไม้จะมีลำต้นสูงและมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อมันแก่มากๆ/ เนื่องจากในเนื้อไม้จะมีพลังงานจำนวนมหาศาลเก็บสะสมอยู่/...แน่นอนว่าต้นไม้ขนาดใหญ่โตแข็งแรงจะต้องการเวลาถึง 150 ปี/กว่าจะเติบโตได้ขนาดนั้น/ถึงตอนนั้น นอกจากต้นไม้ประเภทเดียวกันแล้วก็แทบจะไม่มีพรรณไม้ประเภทอื่นสามารถมาแข่งความสูงได้เลย.. มีรายละเอียดแห่งการค้นพบของผู้เขียนที่แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจล่วงรู้/...มันคือความลับของความลับที่ผู้เขียนต้องใช้เวลาแห่งประสบการณ์ของชีวิตอันยาวนานเพื่อที่จะเรียนรู้ในหยั่งรู้ศาสตร์แห่งธรรมชาติอันเร้นซ่อนนี้..มันเป็นภาษาที่ต้องสัมผัสและต้องจับใจความด้วยการลงลึกถึงรายละเอียดอย่างเพ่งพินิจ..ทั้งนี้ก็เพราะว่า..ในชุมชนสิ่งมีชีวิตในป่าไม้..ไม่ได้มีแค่ต้นไม้เท่านั้นที่แลกข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน แต่ยังมีไม้พุ่มและพรรณไม้มากมายหลายประเภทหลากสายพันธุ์อีกด้วย /เมื่อมนุษย์เราก้าวเข้าไปในบริเวณผืนป่า..พืชสีเขียวทุกชนิดจะพากันเงียบเชียบ/พันธุ์ไม้ที่เรานำมาเลี้ยง ตัดแต่ง และขยายพันธุ์..ส่วนใหญ่จะสูญเสียความสามารถที่จะสื่อสารกันทั้งบนดินและใต้ดิน/พวกมันจะอยู่โดดเดี่ยวจนกลายเป็นใบ้หูหนวก/และจะกลายเป็นเหยื่อที่โง่งมให้แมลงทั้งหลายมากัดกินได้/..นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า..ทำไมการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่จึงใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมาก/บางทีในอนาคต เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ต้นไม้อาจจะเรียนรู้อะไรๆจากป่าบ้าง/และจะทำให้เมล็ดพันธุ์ธัญพืช ที่เขาปลูกมีธรรมชาติดิบๆแบบไม้ป่า/เพื่อทีว่าธัญญาหารเหล่านั้นจะได้ช่างเจรจาขึ้นมาบ้าง/...ครั้นเมื่อต้นไม้มีความอ่อนแอ เป็นไปได้ว่าไม่เพียงแค่ภูมิต้านทานของมันจะลดลงเท่านั้น แต่ศักยภาพในการสื่อสารพูดคุยก็อาจลดลงด้วยเช่นกัน/มันเป็นการยากที่จะอธิบายว่าเหตุใดแมลงทั้งหลายที่มาจู่โจมจึงพุ่งเป้าไปที่ต้นไม้ที่เสื่อมโทรมได้อย่างแม่นยำ..เราพอจะเห็นได้ว่าเวลาที่แมลงทำเช่นนั้น ก็เป็นเพราะพวกมันคอยฟังสัญญาณเตือนภัยเชิงเคมี แล้วทดสอบต้นไม้ที่ไม่ส่งต่อข้อมูล ด้วยการลองกัดแทะที่ใบและเปลือกของลำต้น/บางทีการที่ต้นไม้นิ่งเฉยอยู่อาจเป็นเพราะมันกำลังป่วยอย่างรุนแรงก็เป็นได้/หรือบางครั้งก็อาจเป็นเพราะไม่มีเครือข่ายเห็ดรา...จึงทำให้ต้นไม้ถูกตัดขาดออกจากข่าวสารใหม่ๆ “พืชกำลังสื่อสารกันทางคลื่นเสียงอย่างนั้นหรือ?/นั่นทำให้ผมเกิดอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้นมาอีก/เพราะมนุษย์เองก็ถูกฝึกฝนมาให้สื่อสารกันด้วยคลื่นเสียงเช่นเดียวกัน/...บางทีนี่อาจจะเป็นกุญแจที่จะทำให้เราเข้าใจต้นไม้ได้มากขึ้น /ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถได้ยินว่า...ต้นบีช ต้นโอ๊ก หรือต้นสนสปรู๊ซ สบายดีหรือไม่สบาย/แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้ไปไกลกันถึงขนาดนั้น/และเราก็เพิ่งจะเริ่มทำการศึกษาวิจัยด้านนี้/ อย่างไรก็ตาม อีกหน่อยถ้าคุณได้ยินเสียงกรอบแกรบเวลาที่กำลังเดินเล่นในป่า นั่นอาจไม่ใช่แค่เสียงลมพัดก็ได้นะ........” นี่คือ...หนังสือที่ปลุกตื่นจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ของผู้อ่านสู่กระบวนทรรศน์แห่งการรับรู้อันแยบยลและลึกซึ้ง/ของชีวิตแห่งความเป็นป่า...ในรายละเอียดที่ถูกตีความผ่านโลกแห่งความหมายอันเนื่องมาแต่รากเหง้าของธรรมชาติ/ผ่านการเฝ้าสังเกต/และสื่อสัมผัสในเนื้อแท้แห่งจิตวิญญาณของต้นไม้ ผ่านองค์ประกอบจากผลรวมของพืชพันธุ์นานาชนิด/...ทุกๆชีวิตถูกพูดถึงในผัสสะที่ชิดใกล้/ผ่านการใช้ชีวิตร่วม/ทั้งด้วยการสังเกตและการลงมือปฏิบัติในลักษณะของการสานสัมพันธ์ระหว่างชีวิตต่อชีวิต/ในโลกส่วนตัว ของผู้เขียนกับมวลหมู่ต้นไม้ในหลากหลายสายพันธุ์/เป็นการเชื่อมโยงถึงส่วนอันเป็นเบื้องลึกแห่งการสัมผัสรับรู้ของชีวิตในก้นบึ้งแห่งภาพสะท้อนทางจิตวิญญาณตลอดจนผัสสะของเนื้อในที่คว้านลึกลงไปสู่การรับรู้ที่แท้จริง/..นั่น...เป็นการพิสูจน์ถึงแก่นรากของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในปริศนาของโลกธรรมที่ซ่อนอยู่ในบริบทที่สลับซับซ้อนของ ป่า และ ธรรมชาติอันหลากหลาย...เร้นลับของความเป็นต้นไม้.. “สุดาวรรณ สินธุประมา”..ใช้ทั้งการค้นคว้าและประสบการณ์ร่วมอันลึกซึ้งสู่การแปลหนังสือเล่มนี้ทั้งด้วยการศึกษาอันถี่ถ้วนทั้งจากภาษาอังกฤษและเยอรมัน อย่างได้ความและเต็มไปด้วยความเข้าใจในภาพลักษณ์อันพึงมีพึงเป็นของป่าในแต่ละชนิด/ไม่ว่าจะเป็นป่าที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ/หรือป่าที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอันลี้ลับ/ป่าที่เป็นสถานที่แสวงหาตัวตนของมนุษย์/ป่าซึ่งเป็นที่หลบภัยความวุ่นวายของคนเมือง/หรือป่าที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล เหตุดั่งนี้จึงทำให้ “ชีวิตเร้นลับของต้นไม้” (The Hidden Life Of Trees)/ฉบับภาษาไทยมีน้ำหนักที่ชวนอ่านเพิ่มมากยิ่งขึ้น/เนื่องด้วยทั้งผู้เขียนและผู้แปลล้วนกอปรไปด้วยองค์ความรู้ในเชิงประจักษ์ต่อความเข้าใจเรื่องราว/ที่นำเสนอ อย่างดื่มด่ำ/เชื่อมโยง/และสละสลวยในการสื่อภาษาแห่งความรู้สึก..ต่อการเปิดเผยความเร้นลับของต้นไม้ออกมา/อย่างที่เรามิอาจจินตนาการได้เลย/..นั่นคือความมั่นใจถึงว่า...เราจะต้องรักต้นไม้และมองต้นไม้ด้วยสายตาใหม่..อย่างที่ไม่เคยมองมาก่อน/หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง...! “เหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่เข้าใจต้นไม้ก็เพราะมันเติบโตช้าอย่างยิ่ง.../มันจึงดูเหมือนว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่นิ่งๆทื่อๆแทบจะไม่เคลื่อนไหวมากไปกว่าก้อนหิน/เสียงใบไม้บนเรือนยอดกระทบกันในกระแสลม ..ที่ทำให้ป่าดูมีชีวิตชีวานั้น...เป็นการแกว่งไกวไปตามแรงกระทบจากภายนอก...เท่านั้น”