หวั่นลูกจ้างสับสนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากพิษโควิด-19 บอร์ดประกันสังคมแนะลงรายละเอียด-เร่งทำความเข้าใจให้ทันความเดือดร้อน เผยพนักงานบริการ 3 แสนคนยังเข้าไม่ถึง รองปลัด ก.แรงงานระบุครอบคลุมผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ วันที่ 26 มีนาคม 2563 น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงานและ 1 ในคณะกรรมการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการต่างๆของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มีลูกจ้างจำนวนมากได้สอบถามตนเนื่องจากแต่ละมาตรการค่อนข้างซับซ้อน เพราะไม่ได้มีสิทธิทุกคน บางคนถามว่าขายของจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ และผู้ประกันตนในมาตรา 39และ มาตรา40 ต้องไปรับเงินเยียวยากับกระทรวงการคลังจะมีสิทธิหรือไม่ “ถ้ามีคนได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็จะเป็นปัญหา มันมีประเด็นปลีกย่อยเยอะ จริงๆแล้วสถานการณ์แบบนี้รัฐต้องใจกว้าง คือในเมื่อจะให้ก็ต้องให้จริงๆ ไม่ใช่เกณฑ์นั้น เกณฑ์นี้มากีดกันคนบางกลุ่ม เพราะจะมีผลกระทบในวงกว้าง คนต้องหากินทุกวัน แต่ตอนนี้หากินไม่ได้กันแล้ว ถ้าไม่มีมาตการชดเชย อย่าว่าให้ถึง 6 เดือนเลย เพียงแค่เดือนเดียวก็อยู่ไม่ได้แล้ว พวกเรายังต้องเช่าบ้าน ทำอย่างไรรัฐจะไปต่อรองกับเจ้าของบ้านให้พักเก็บค่าเช่าบ้างได้หรือไม่ ชาวบ้านเจรจาต่อรองเองไม่ได้” น.ส.อรุณี กล่าว ผู้นำแรงงานกล่าวว่า ยังมีลูกจ้างเข้าใจผิดคิดว่าเมื่อพักงานหรือตกงานจากพิษโควิดแล้วจะได้เงินเยียวยาครึ่งหนึ่งของเงินเดือน แท้จริงแล้วได้รับครึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งขณะนี้เพดานการจ่ายเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาท หากรับค่าเยียวยาก็จะได้ 7,500 บาท ถ้าได้ค่าจ้างวันละ 300 บาทก็จะได้เพียง 150 บาท ซึ่งไม่พอค่าเช่าและค่ากินอยู่ในครอบครัว “ตอนนี้ลูกจ้างอพยพกลับต่างจังหวัดกันไปเกือบหมดแล้ว ดิฉันคุยกับวินมอเตอร์ไซ เขาบอกว่าอยู่ก็อดตาย ขอกลับไปตายบ้านดีกว่า การออกนโยบายใดๆ ต้องไปปลดล็อคในหลายเรื่อง เช่น คนขับแท็กซี่ต้องผ่อนรถเดือนละ 1 หมื่น รัฐต้องคุยกับไฟแนนซ์ให้เขาด้วย ว่าช่วงนี้พักชำระหนี้ไปก่อนได้มั้ย อย่างเรื่องค่าเช่าบ้าน ต้องสำรวจว่ามีใครเช่าบ้านอยู่บ้าง ตอนนี้เก็บค่าเช่าครึ่งเดียวได้หรือไม่ เพื่อให้คนอยู่ในที่เดิม ที่สำคัญอย่าให้ล่าช้าเพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ทันกับความเดือนร้อนของคนจน จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องอาหารหรือไม่ สามารถซื้อข้าวสารครึ่งราคามีหรือไม่”น.ส.อรุณี กล่าว น.ส.อรุณีกล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ซึ่งไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมรัฐบาลถึงเอาความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา39 และมาตรา 40 ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะจริงๆแล้ว สำนักงานประกันสังคมได้เก็บข้อมูลคนกลุ่มนี้ซึ่งมีราว 5 ล้านคนไว้หมดแล้ว แต่เมื่อไปอยู่กระทรวงการคลังต้องให้ข้อมูลและลงทะเบียนใหม่ทางเวบไซต์ ซึ่งพวกตนทำไม่เป็น ด้านน.ส.ไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานบริการทั่วประเทศราว 3 แสนคน โดยมาตรการที่รัฐบาลออกมานั้น ช่วยเหลือคนที่มีสัญชาติไทยรายละ 5 พันบาท และผู้ประกันตน 50% แต่พนักงานบริการส่วนมากไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพราะเจ้าของธุรกิจบันเทิงมักไม่ได้ทำประกันสังคมให้ เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นจึงเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือใดๆ และที่ผ่านมากฎหมายมักเน้นแต่เอาผิด แต่ไม่ได้คุ้มครอง หน่วยงานรัฐจึงปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด “ตอนนี้ทุกคนเครียดมาก เพราะไม่รู้จะได้กลับมมาทำงานเมื่อไร และเงินออมที่มีอยู่ใกล้หมดแล้ว พวกเราต้องผ่อนบ้านผ่อนรถมีภาระเยอะแยะ ที่ทำมาหากินเก็บออมได้ทั้งหมดอยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน แค่เดือนเดียวก็เครียดแย่แล้ว ทั้งๆที่พวกเราเป็นคนกลุ่มแรกๆที่ได้รับผลกระทบเพราะรัฐปิดสถานบันเทิงและสถานบริการตั้งแต่ต้น แต่พวกเรากลับไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ”น.ส.ไหมกล่าว น.ส.ไหมกล่าวว่า ได้อ่านข่าวต่างประเทศ ในประเทศบังคลาเทศและมาเลเซีย รัฐบาลเอาเงินแจกผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการคนละ 2 พันบาททันทีเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เพื่อให้ทุกคนหยุดงานกักตัวเอง ที่ผ่านมาพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว สามารถดึงเงินเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของเม็ดเงินการท่องเที่ยว แต่พอเกิดปัญหาพวกเรากลับเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เมื่อครั้งที่รัฐบาลบุกทลายอาบอบนวดนาตารีและวิคตอเรียซีเครทซึ่งยึดเงิน 500 ล้านบาทไว้และบอกว่าจะเอามาช่วยเหลือพนักงานบริการ แต่จนถึงบัดนี้เรื่องก็เงียบหายไป จริงๆควรนำเงินก้อนนี้มาช่วยเหลือพนักงานบริการในช่วงนี้ซึ่งสามารถแจกได้คนละ 2,000 บาท นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่าคนงานข้ามชาติมักเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมและไม่เข้าใจว่าใช้สิทธิได้หรือไม่ แม้รัฐบาลบอกมีสิทธิเท่ากัน แต่ความเป็นจริงก็ไม่เท่ากับคนไทย โดยก่อนหน้านี้มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับไปประเทศต้นทางจำนวนมากสาเหตุเนื่องจากการเข้าสู่ระบบไม่ได้จึงกลับไปก่อน และเป็นธรรมชาติการย้ายถิ่นในช่วงปลายมีนาคมถึงต้นเมษายน ส่วนกลุ่มที่ทำงานในโรงงานใหญ่ยังอยู่ในพื้นที และปกติพวกเขาไม่ได้ขยับไปเที่ยวเหมือนคนไทย เแค่เดินไปตลาดปากซอย ขณะนี้เมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินช่วยไม่ให้พวกเขาขยับไปที่ใด เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เพราะต่างมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และเข้าถึงโลกโซเชียล ซึ่งมีเพจที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ และยังมีกลุ่มอาสาสมัครคอยป้อนข้อมูลให้พวกเขา นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ มีสิทธิในการรับเงินช่วยเหลือเยียวยา 50% เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทย ทั้งในกรณีที่ถูกกักตัวและสถานประกอบการของนายจ้างปิดกิจการเนื่องจากคำสั่งของรัฐบาล โดยนายจ้างจะต้องแจ้งรายชื่อลูกจ้างมายัง สปส.ซึ่งมีรายชื่ออยู่แล้ว และตามขั้นตอนต้องให้กรอกข้อมูลด้วยซึ่งหากลูกจ้างแรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำได้ก็ให้นายจ้างเป็นผู้กรอกบข้อมูลให้แทน ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ 1.2 ล้านคน