“บิ๊กตู่”ออกโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจ ชี้แจงประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คลุมทั่วประเทศ สู่”โควิด-19” ลั่น “คุมเอง-แถลงเอง” พร้อมแบ่งงานปลัดฯ 4 กระทรวงฯ พ่วง “ผบ.สส.”จ่อออกข้อกำหนดเข้มคุมระบาด ยันไม่ปิดร้านค้า ขู่ไม่ปรานีพวกฉวยโอกาส หากินบนความทุกข์ปชช. ชี้คนไทยต้องเผชิญช่วงเวลาที่เลวร้าย-ยากลำบาก-หัวเลี้ยวหัวต่อ ระบุไวรัสมรณะอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นหลายเท่าตัว เชื่อประเทศจะผ่านวิกฤติเลวร้ายได้ “บิ๊กแดง” เตรียม “กำลังพล-แพทย์-ยุทโธป กรณ์” หนุน “ศอฉ.-รัฐบาล” หลังบังคับใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ขณะที่สภาฯ เตรียม 3 แนวทางรับมือ หากประชุมสภาฯ ไม่ได้ เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 25 มี.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการประกาศพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ช่วงเวลาหลายสัปดาห์ และหลายเดือนข้างหน้า ต่อจากนี้ไปเราอาจจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้าย และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทย อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา ช่วงเวลานี้ เป็นบททดสอบ ที่เราทุกคนไม่เคยเผชิญมาก่อน ถึงวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน “ด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะนายกฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราสามารถหยุดการแพร่ระบาดพร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนทุกคนให้ได้ ผมจะเข้ามาบัญชาการ การจัดการกับไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านการป้องกันการระบาด การรักษาพยาบาลไปจนถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19 ผมจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้และรายงานตรงต่อประชาชนชาวไทยทุกคน โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจ ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแล้ว และจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส ที่ได้ตั้งไว้แล้ว ให้เป็นหน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และขจัดปัญหาการทำงานแบบ ต่างคนต่างทำของหน่วยงานต่างๆ โดยมีผมเป็นประธาน” นายกฯ กล่าวว่า กำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการต่างประเทศ และการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมทั้ง มีทีมงานจากทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา โดยจะประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลสถานการณ์เป็นภาพเดียวกัน และเมื่อตนแจกจ่ายงาน ทุกฝ่ายจะรับทราบแผนงานทั้งหมดไปพร้อมกัน สามารถทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งผู้ที่จะรายงานต่อประชาชน จะต้องเป็นตนหรือผู้ที่ตนมอบหมายเท่านั้น นายกฯ กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดต่างๆ เช่น การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง, การปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่งปิดไปบ้างแล้ว, การปิดช่องทางเข้าประเทศ, การเสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับ ผู้สูงวัย คนป่วย และเด็ก การห้ามกักตุนสินค้า, การขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล การห้ามเสนอข่าวบิดเบือน จะมีการประกาศตามมา หลังจากที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และยืนยันว่า ภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ จะไม่มีการปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ข้อกำหนดเหล่านี้ อาจจะสร้างความไม่สะดวกกับประชาชนบ้าง แต่ขอให้ทุกท่านร่วมมือและเสียสละเพื่อส่วนรวม งานหลักที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด และดำเนินการควบคู่กันไป คืองานป้องกันการระบาด ด้วยการควบคุมพื้นที่ ทุกพื้นที่และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แอพลิเคชันกำหนดโลเคชั่น มาช่วยในการเฝ้าสังเกตอาการ หรือควอรันทีน การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา ฟื้นฟูประเทศ จากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ จะปรับปรุงให้การสื่อสาร เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 กับประชาชนให้มีความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน โดยตนได้สั่งการให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละหนึ่งครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูล และลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตนขอยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นทางการ ตรงไปตรงมา โปร่งใส และชัดเจน จากเพียงแหล่งเดียว เป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ ตนขอความร่วมมือให้สื่อมวลชน เพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวัน ของทีมสื่อสารเฉพาะกิจ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้ท่านเหล่านั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าหากทำได้เช่นนี้สื่อมวลชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสู้กับภัยโควิด-19 ครั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเกียทุกท่าน พวกเราคือทีมเดียวกัน ทุกท่านสามารถร่วมแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง จากการแถลงประจำวัน ช่วยกันรายงาน และต่อต้านการแชร์ข่าวปลอม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของท่าน ช่วยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย รับรู้และเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอเตือนกลุ่มคนที่จะฉวยโอกาส หาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อนความเป็นความตายของประชาชนให้รู้ไว้ว่าอย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้ ตนจะทำทุกทาง ที่จะใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และไม่ปรานี การบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรค จะเข้มข้นขึ้นมากทั่วประเทศ ทั้งการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมาย และการเอาผิดข้าราชการ และเจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ “ภาครัฐอย่างเดียว ไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้เพียงลำพัง ถ้าเราไม่จับมือ และดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นทีมเดียวกันกับภาครัฐ ประเทศไทยโชคดีที่มีคนเก่งมากมาย อยู่ในภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่พร้อมจะช่วยรัฐบาลแก้ปัญหา ภายในหนึ่งสัปดาห์ ผมจะกระจายทีมงาน ไปทำความเข้าใจปัญหา และความต้องการของทุกกลุ่มรวมทั้งรับทราบศักยภาพของแต่ละกลุ่มในการที่จะเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา และผมจะดึงคนเก่งเหล่านี้ มาร่วมกันทำงาน ต่อจากนี้ไป มาตรการต่างๆ ที่รัฐจะออกมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายนี้ จะมีความเข้มข้นขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ผมขอความร่วมมือและขอให้มีความรับผิดชอบ ต่อตนเองและสังคม รวมทั้ง ปฏิบัติตามนโยบายป้องกันโรคระบาดนี้ อย่างเคร่งครัด บางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่านเอง ของครอบครัวของท่าน และของคนไทยทุกคน หากพวกเราเข้าใจ เข้มงวดและจริงจัง ในเวลาไม่นาน ผมมั่นใจว่า พวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์ อันเลวร้ายนี้ไปได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวด และท้าทายความรัก ความสามัคคีของพวกเราทุกคน แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุด ในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมา นั่นก็คือ ความกล้าหาญ ความรัก ที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติ ความเสียสละที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงความเอื้ออาทรต่อกันและกัน ซึ่งจะนำพาให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ ด้วยความสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งหาไม่ได้จากชาติใดในโลก ไวรัสโควิด-19 ที่น่ากลัวและอันตราย ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทำร้ายได้ก็คือความดีงามในใจและความสามัคคีของคนไทย จะกลับมาเปล่งประกายไปทั่วผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง “ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่าผมจะเดินหน้าสุดความสามารถ เพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของ ประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ผมขอให้ทุกคนเชื่อมั่น และร่วมมือกัน ฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน จะต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เราจะสู้ไปด้วยกัน และเราจะชนะไปด้วยกัน ขอบคุณครับ” ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กล่าวว่า จากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ของรัฐบาลนั้น ในส่วนของกองทัพบกมีหน้าที่ในการเตรียมกำลังพล บุคลากรทางการแพทย์ และยุทโธปกรณ์ทุกประเภท ในการสนับสนุนรัฐบาลและศอ ฉ.ของรัฐบาล พร้อมออกคำสั่งให้กำลังพลปฎิบัติอย่างเคร่งครัด 7 ข้ออาทิ ให้กำลังพลที่พักอาศัยในบ้านพักของทางราชการให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบริเวณ โดยไม่จำเป็น ห้ามนำบุคคลภายนอกเข้ามาพักอาศัยโดยเด็ดขาด ยกเว้นได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร จากผู้บังคับบัญชา ระดับผู้บังคับกองพันขึ้นไป งดการปล่อยลาพักของทหารกองประจำการ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจาย ของเชื้อโรค จัดให้มีการเยี่ยมญาติ สามารถปฏิบัติได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการการระวังป้องกันโรคระบาด เพื่อเป็นการพิทักษ์กำลังพล เป็นต้นตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 ถึงวันที่ 23 เม.ย.2563 ขณะที่ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ แถลงยืนยันว่าไม่สามารถเลื่อนเปิดประชุมสภาสมัย สามัญทั่วไป ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ได้ ส่วนเมื่อเปิดประชุมแล้ว ประธานสภาฯ อาจสั่งให้มีการประชุมภายหลังได้ และสามารถสั่งงดประชุมได้ตามสถานการณ์ ส่วนแนวทางที่สำนักงานเลขาธิการสภานพิจารณาเบื้องต้น คือ 1. ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ 2.นัดประชุมตามปกติที่ห้องประชุมสุริยัน ซึ่งสามารถจุคนในได้ประมาณ 1,000 คน และจัดที่นั่งให้มีระยะห่างทางสังคมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และ 3.จัดห้องย่อยตามกลุ่มพรรคการเมือง ซึ่งต้องหารือให้รอบด้านอีกครั้ง เนื่องจากการประชุมของสภาฯมีข้อกำหนดที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งการออกเสียง และการร่วมเป็นองค์ประชุม ที่ไม่สามารถงดเว้นได้