“วิษณุ” แจง เริ่มบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เที่ยงคืน 26 มี.ค. พร้อมกำหนด 3 พฤติกรรม “ห้ามทำ, ให้ทำ และไม่ควรทำ “ บอกยังไม่ถึงบังคับปชช.ไม่ให้ออกจากบ้าน แนะทำตามหมอสั่ง “คนอายุ 70 ปี- โรคประจำตัว-เด็กไม่ถึง 5 ขวบ” ขออยู่บ้าน บอก ไม่ห้ามคนข้ามจว.แต่ต้องกรอกประวัติ-ตั้งแอพ ติดตามตัว เผย ยังไม่เคอร์ฟิว แต่ถ้ามีสั่งห้าม 24 ชม. เมื่อเวลา 15.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีนายกฯ ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้เป็นการประกาศทั่วราชอาณาจักร เพราะโควิด-19 กระจายไปทั่ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 26 มี.ค.จนถึง วันที่ 30 เม.ย. 63 และสามารถต่ออายุเป็นคราวๆ ได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน โดยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสาเหตุที่ต้องประกาศให้มีผลบังคับใช้หลังจากมีมติครม.2 วัน เพราะต้องการให้ประชาชนและส่วนราชการเตรียมการ ปฏิบัติตาม และเมื่อพ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้นายกฯสามารถสั่งการได้เหมือนเป็นเจ้ากระทรวง เสมือนนายกฯเป็นเจ้ากระทรวง แต่ไม่ใช่การปลดรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรียังรับผิดชอบเหมือนเดิม นายวิษณุ กล่าวต่อว่า จะมีการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์ ซึ่งนายกฯ เป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งรองนายกฯ ทุกคนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และจะแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ โดยให้ปลัดสาธารณสุขรับผิดชอบสั่งการด้านสาธารณสุข ปลัดมหาดไทย รับผิดชอบด้านปกครอง สั่งการผู้ว่าราการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ว่าฯกทม. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบควบคุมสินค้าไม่ให้มีการกักตุน และขาดแคลน ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รับผิดชอบการสื่อสารสื่อมวลชนและโซเชียล ป้องกันข่าวปลอม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบดูแลคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) รับผิดชอบด้านความมั่นคง มีอำนาจสั่งการดูแลความปลอดภัย และปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท นอกจากนี้ ด้านการประสานงานจะให้เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เลขาฯนายกฯ เลขาฯครม. และปลัดสำนักนายกฯ รับผิดชอบการประสานงาน และเหตุที่ต้องให้ปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนดให้ผู้รับผิดชอบด้านต่างๆ ต้องเป็นข้าราชการประจำ ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ส่วนรัฐมนตรีจะให้ทำงานในส่วนนโยบาย นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) นั้น เป็นการยกระดับจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เดิม มาเป็นศูนย์ดังกล่าวแทน นายกฯสามารถสั่งการผ่านศอฉ.โควิด-19 โดยไม่ต้องเรียกประชุมเต็มคณะเพื่อขอมติ หรือประชุมผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คนก็สามารถออกเป็นมติได้ และจะมีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ปรึกษา รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการย่อย 5-6 ศูนย์ ทางสมช.จะดำเนินการ ซึ่งตรงนี้เป็นการดำเนินการภายในไม่เกี่ยวกับประชาชน นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ข้อกำหนดในฉบับที่ จะกำหนดพฤติกรรมต่างๆ เอาไว้ 3 ประเภท คือ ห้ามทำ, ให้ทำ และไม่ควรทำ โดยมาตรการที่เกี่ยวกับการห้ามทำ คือ การห้ามประชาชน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตเดิมที่ผู้ว่าฯแต่จังหวัดกำหนดให้ปิดสถานที่ไว้ ส่วนจังหวัดใดที่ผู้ว่าฯยังไม่มีการสั่งให้ปิด ให้ยึดคำสั่งในแนวทางเดียวกันต้องสั่งปิดทั้งหมดเพื่อป้องกัน แต่ไม่ต้องปิดเหมือนกันทั้งหมด เช่น กรณี สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ อย่างชายหาดที่บางจังหวัดมีไม่เหมือนกันและลักษณะแตกต่างกัน และที่ประชาชนทักท้วงว่ารัฐบาลไม่กล้าปิดเอง เพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้พิจารณาสั่งปิดโดยปิดตามคำแนะนำของรัฐบาล แต่เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว ที่มีการปิดไปก่อนหน้านี้จะเป็นการสั่งปิดตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้เรื่องการห้ามผู้ใดเข้าในราชอาณาจักร ไม่ว่าทางบก น้ำ อากาศ ด้วยยานพาหนะใด ทุกจุด ทุกด่านทั่วประเทศ และสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ยกเว้นคนไทย และบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ที่มีมีใบรับรองทางการแพทย์ ว่าสามารถเดินทางได้ รวมถึงคณะทูตต่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย ผู้ขนส่งสินค้า ที่ขนส่งเสร็จแล้วกลับออกไปโดยเร็ว ผู้ที่โดยสารมากับยานพาหนะ เช่น นักบิน แอร์โอสเตส นอกจากนี้ ยังห้ามชุมนุม ห้ามเผยแพร่ข่าวปลอม ข่าวโควิด -19 ที่ทำให้ตื่นตระหนก ส่วนที่ว่ารัฐฉวยโอกาสปิดเสรีภาพนั้น ไม่ใช่ แต่จำเป็นต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก ส่วนข้อกำหนดที่ให้ทำจะบังคับกับส่วนราชการ ให้กระทรวงเตรียมการช่วยเหลือประชาชน เช่น เตรียมสถานที่เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เตรียมยา และบุคลากรทางการแพทย์ นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเรื่องข้อกำหนดที่ควรทำ เช่น ประชาชนควรอยู่กับบ้านไม่ออกจากบ้าน ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นบังคับประชาชน แต่จวนแล้วที่จะสั่งห้าม ทั้งนี้ คำแนะนำของแพทย์ระบุไว้ว่า 3 กลุ่ม เสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อสูง ได้แก่ 1.บุคคลสูงอายุเกินกว่า 70 ปี 2.มีโรคประจำตัว เช่น เบาเหวาน ความดันสูง ทางเดินหายใจ โรคปอด และ 3.เด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ ทำขอให้อยู่ที่บ้าน เว้นแต่ต้องออกไปทำธุระที่มีความจำเป็น เช่น ติดต่อศาล ไปพบหมอ ทั้งนี้ เราไม่ห้ามประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด แต่จะมีมาตรการออกมาทำให้เกิดความลำบาก จนไม่น่าจะเดินทาง ยกเว้นคนที่จำเป็นจริงๆ โดยฝ่ายมั่นคงจะจัดทหาร ตำรวจ อาสาสมัครตั้งจุดสกัด หรือด่าน ดูว่ายานพาหนะนั้น มีการเว้นระยะในการนั่งหรือยืนบนรถห่างกัน 1 เมตร และสวมหน้าการอนามัยหรือหน้ากากผ้า รวมทั้งเรียกลงมาตรวจวัดอุณหภูมิและใช้เจลล้างมือ และจะให้ผู้ที่เดินทางทำประวัติ ติดตั้งแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์ให้สามารถติดตามตัวได้ หากผู้โดยสารร่วมในรถคันดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อ จะเรียกตัวมาพบทันที ทั้งนี้สิ่งที่ห้ามให้และควร ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว “ที่ถามว่าปิดประเทศหรือยังนั้น เรายังไม่ปิด เพราะยังเปิดให้คนไทยกลับเข้ามาได้ แต่คนต่างประเทศก็เหมือนปิด เพียงแต่ท่าอากาศยานยังเปิดอยู่ ส่วนเรื่องปิดบ้านนั้น ยังกึ่งๆ ปิดสำหรับคน 3 ประเภทที่แนะนำ ส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนให้เปิด และขอร้องอย่าปิดคือ โรงงาน ธนาคาร ร้านขายยา สถาบันการเงิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าแผนกอาหาร ยา และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แผนกแฟชั่น การบริการขนส่งสินค้า โดยการซื้อหาอาหารยังทำได้ตามปกติ แต่ห้ามกักตุนสินค้า ขณะที่สถานที่ราชการยังเปิดทำการปกติ และวันนี้ยังไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งเคอร์ฟิวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพียงแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้มีอำนาจประกาศเคอร์ฟิวได้ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องประกาศเคอร์ฟิวจะไม่เหมือนวันที่ผ่านมา ที่ประกาศเพื่อรักษาความมั่นคง แต่เชื้อโควิด -19 ไม่จำกัดเวลา ถ้าประกาศเคอร์ฟิวต้องทำ 24 ชั่วโมง แต่จะมีข้อยกเว้นจำนวนมาก เพื่อให้ซื้อหาอาหารได้ รวมถึงขนส่งสินค้า วิทยุโทรทัศน์จัดรายการได้ตามปกติ โดยจะประกาศเมื่อใดนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์ทุกวันเวลา 09.30 น. เพราะขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” นายวิษณุ กล่าว