ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง คำกล่าวที่ว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี หรือของฟรีไม่มีในโลก ดูจะเป็นความจริงแท้เสมอ เพราะการจะได้อะไรมาก็ต้องมีการแลกเปลี่ยน เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต้องแลกนั้นมากหรือน้อย หรืออยู่ในรูปแบบใดเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า ในขณะที่โลกเรามีความเจริญก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงจากยุคเกษตรกรรม มาสู่ยุคอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการสูญเสียสภาพความเป็นอยู่เดิมที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ สะดวกสบายตามประสา มาสู่สังคมเมือง มีการแข่งขัน มีการทำลายสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ จนปัจจุบันจะเป็นยุคของ automation ที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่คนและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้คนงานในการผลิต ทุกย่างต้องมีการแลกเปลี่ยน (trade off) เสมอ เรามีความเจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งได้ เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเป็นตัวอย่างสำคัญ แทบจะกล่าวได้ว่า คนไปไหน โรคไปด้วย คนเก่งขึ้น โรคก็พัฒนาขึ้น เชื้อโรคพร้อมทำลายเรา แต่เรามักตกอยู่ในความประมาท และประมาทศักยภาพของเชื้อโรคด้วย ในสมัยที่ผู้เขียนไปศึกษากฎหมายที่ The University of Liverpool ประเทศอังกฤษ พบนักศึกษาแพทย์จากเอเชียเราและจากไทยเรามาศึกษาต่อที่นี่ ที่แปลกใจก็คือ เขามาศึกษาเรื่องโรคเมืองร้อน ทั้ง ๆ ที่อังกฤษเป็นเมืองหนาว เมื่อได้รับการบอกเล่ากับการย้อนดูเรื่องราวความเป็นมาแล้วจึงทราบว่า ด้วยความที่ลิเวอร์พูลเป็นเมืองท่า มีการขนส่งสินค้า ต้องใช้กรรมกรชาวจีนและชาติอื่น ๆ จากเอเชีย เมื่อเดินทางมา โรคก็ติดตามมาด้วย ทำให้ต้องมีการรักษาและศึกษาโรคเขตร้อนกันมาแต่ก่อนเก่า ที่นี่จึงเป็นแถบถิ่นที่มีความชำนาญในเรื่องโรคเขตร้อนไปโดยปริยาย เมื่อผู้เขียนศึกษากฎหมายอียู (EU) หรือกฎหมายของสหภาพยุโรปก็มีกรณีของการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และผู้คนในกลุ่มประเทศอียูโดยเสรี (free movement) ซึ่งยุโรปก็มีปัญหาที่ต้องกังวลหลายประการ ทั้งในเรื่องของอาชญากรข้ามเขต ปัญหาทางสังคม ปัญหาด้านสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนเพื่อการขยายตัวหรือการรวมตัวเป็นอียู กรณีของโควิดก็เป็นเรื่องราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน เพียงแต่ต้องจ่ายด้วยสุขภาพ ด้วยชีวิต เรายังไม่ได้เข้าสู่ยุคสมบูรณ์ของหุ่นยนต์ในการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่จะทำให้การต่อสู้ครั้งนี้พอสมน้ำสมเนื้อกันได้ กองกำลังทางการแพทย์ก็มีไม่เพียงพอ สมรภูมิที่เราต้องเลือกคือ โรงพยาบาลก็มีไม่เพียงพอ ทั้งต้องขาดแคลนยา เวชภัณฑ์ ชุดตรวจ เครื่องมือต่าง ๆ ตัวอย่างของอิตาลีจะเห็นได้ว่า ไม่สามารถจะรับมือได้ทัน ผู้คนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง ภูมิภาคที่เจริญก้าวหน้าก็ยังรับมือไม่ไหว กลายเป็นสงครามไร้รูปแบบที่ทำลายทุกอย่างแม้กระทั่งขวัญและกำลังใจ บททดสอบของโควิดครั้งนี้ถือว่าหนักหน่วง และทำให้มีข้อจำกัดในการต่อสู้ จำเป็นต้องตั้งรับ ดูยอดคนป่วยคนตายในแต่ละวันเหมือนตามดูดัชนีตลาดหุ้นด้วยความวิตกกังวล ความจริงโรคภัยก็เคยมาเตือนแล้วในลักษณะของไวรัสต่าง ๆ ที่เราพบเจอ รวมทั้งไข้หวัดนก แต่คราวนี้ถือว่าเป็นศึกใหญ่ที่ประชาชนทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือกัน กรณีของไทยเราเองก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการตระหนักรับรู้ในหมู่ประชาชน การบริหารข้อมูลข่าวสาร การให้ความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนแผนการดำเนินการต่าง ๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทำให้ต้องสู้รบไปด้วย แก้ปัญหาภายในไปด้วย ซึ่งย่อมจะไม่ทันการณ์และมีโอกาสเกิดการสูญเสียสูง ในหมู่ประชาชนคงจะต้องตระหนักสำนึกและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติตนถูกต้องจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตตนเองและชีวิตผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องใช้หลัก “กบจำศีล” อยู่อย่างเงียบสงบ มีสติ รักษาตนเองให้รอดพ้นก่อน อย่ากังวลถึงปัญหาอื่นจนต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงภัยแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกมาจะไร้ค่าในทางปฏิบัติหากทุกคนไม่ร่วมมือกัน ต้องทำใจ อดทนให้มาก ความทุกข์ก็เป็นอนิจจัง ไม่ดำรงคงที่ มีมาแล้วก็มีไป ขอแต่เราอย่ายอมแพ้เสียก่อน สู้ไปด้วยกันครับ/