“กมธ.ป.ปช.” ถกลอบส่งออก-กักตุนหน้ากากอนามัย กรมศุลฯ แจงตัวเลขคลาดเคลื่อนเพราะสำแดงเป็นอย่างอื่น มีผู้ส่งออกบางรายพฤติกรรมไม่สุจริต ปัดไม่มีฝ่ายการเมืองกดดัน ด้านป.ป.ง.ระบุเส้นทางการเงิน “ศรสุวีร์” ยังไม่เข้าเกณฑ์ กม. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) มีวาระการพิจารณาเรื่องการส่งออกนำเข้าและการกักตุนหน้ากากอนามัย โดยนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรและโฆษกกรมศุลกากร ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุฝว่าไม่มีกรรมาธิการในส่วนของพรรคพลังประชารัฐมาร่วมประชุมแต่อย่างใด ส่วนใหญ่มีแต่เพียงกรรมาธิการสัดส่วนของฝ่ายค้าน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯได้สอบถามถึงภาพรวมของการส่งออกและการนำเข้าหน้ากากอนามัยในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ว่ามีจำนวนเท่าใด โดยนายชัยยุทธ ชี้แจงว่า การส่งออกในเดือนม.ค.มีจำนวน 158 ตัน เดือนก.พ.มีจำนวน 187 ตัน ซึ่งจากสถิติการส่งออกจะเป็นตัวเลขที่มาจากผู้ส่งออกยื่นพิกัดสินค้าที่ไม่ใช่หน้ากากอนามัยให้ไปอยู่ในหมวดหน้ากากอนามัย ซึ่งการส่งออกในเดือนก.พ.แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนควบคุมตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-4 ก.พ.มีการส่งออกจำนวน 135 ตัน หรือประมาณ 72% ของการส่งออก ช่วงที่สองซึ่งเป็นช่วงควบคุมการส่งออกตั้งแต่วันที่ 5-20 ก.พ. ส่งออกจำนวน 12.7ตัน ส่วนช่วงที่สามตั้งแต่ 21 -29 ก.พ.ส่งออกจำนวน 38 ตัน จากนั้นคณะกรรมาธิการฯได้ตั้งข้อสังเกต โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามว่าทำไมช่วงวันที่ 1-4 ก.พ.ก่อนการควบคุมหน้ากากอนามัย ถึงได้มีการส่งออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมาธิการฯต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกทั้งหมดและรายชื่อบริษัทผู้ส่งออกด้วย ต่อมานายชัยยุทธ ชี้แจงว่า การส่งออกและการสำแดงสินค้าเราไม่ทราบว่ามีมากน้อยแค่ไหนและไม่สามารถถ่ายรูปรายละเอียดสินค้าได้ทั้งหมด เนื่องจากเราดูจากใบอนุญาต ตัวเลขและมูลค่าที่คลาดเคลื่อนนั้นอาจมาจากการที่บริษัทส่งออกสำแดงสินค้าไม่ใช่หน้ากากอนามัยแต่เอาไปรวมอยู่ในหน้ากากอนามัย และหลังจากวันที่ 4 ก.พ.กรมศุลกากรได้เข้มงวดการส่งออก แต่อาจมีผู้ส่งออกบางรายมีพฤติกรรมไม่สุจริตด้วยการสำแดงชื่อสินค้าเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เราไม่สามารถตรวจสอบตู้ส่งออกได้ทุกตู้ เพราะการส่งออกแต่ละปีมากกว่า 3 ล้านใบขนสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์มีมากกว่าพันตู้ต่อวัน เราไม่สามารถสกรีนได้ทุกตู้เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออก แต่ใช้วิธีการตรวจสอบแบบการกำหนดความเสี่ยง นอกจากนี้ นายธีรัจชัย สอบถามอีกว่าเมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย แต่กลับมีข่าวออกมาว่าวันที่ 16 มี.ค.มีผู้ประกอบการรายหนึ่งเร่งรัดการส่งออกที่ท่ากาศยานสุวรรณภูมิ เหมือนกับเป็นการรู้ล่วงหน้าก่อนจริงหรือไม่ โดยนายชัยยุทธ ชี้แจงว่า ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะการสั่งห้ามการส่งออกเกิดตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.แล้ว ดัาน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ สอบถามว่า เหตุใดกรมศุลกากรถึงได้แถลงข่าวเรื่องตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยที่คลาดเคลื่อนและมีการแก้ไขตัวเลขต่อสื่อมวลชนภายในหลัง จึงทำให้เกิดความสงสัยมีแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่อย่างไร ในประเด็นนี้ โฆษกกรมศุลกากร ยืนยันว่า การแถลงข่าวมีผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัย เป็นการชี้แจงแถลงไปตามข้อมูลที่ได้รับมา สำหรับตัวเลขที่มีความคลาดเคลื่อน เพราะมีการตรวจสอบพบว่ามีการรวมบางพิกัดที่ไม่ใช่หน้ากากอนามัยเข้าไป จึงจำเป็นต้องออกหนังสือแก้ไขไปยังสื่อมวลชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจ "ยืนยันว่าไม่มีแรงกดดันมาจากฝ่ายการเมือง เพราะเราต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น หากมีแรงกดดันจริง เราคงพยายามทำตัวเลขให้น้อยกว่านี้ และที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่แถลงข้อเท็จจริงตรงไปตรงมา จึงยืนยันว่าไม่มีใครมากดดันกรมศุลกากร" นายชัยยุทธ กล่าว จากนั้นตัวแทนของสำนักงานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนำโดยนายเทพสุ บวรโชติดารา ผอ.กองข่าวกรองทางการเงิน และ นายวรเศรษฐ์ สุรพนานนท์ชัย ผอ.ส่วนวิเคราะห์ข่าวกรองทางการเงิน ได้เข้ามาชี้แจงในภาพรวมของการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่าหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ถ้าเกิดการกักตุนสินค้าและส่งออกไปขายนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องจะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไรก็ตาม แม้ส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.แล้วและยังไม่มีตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แต่คณะกรรมการธุรกรรมทางการเงินของป.ป.ง.ก็ยังสามารถเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกได้ ส่วนเรื่องการส่งออกนั้นอาจเป็นความผิดมูลฐานในเรื่องการหนีศุลกากร กรมศุลกากรสามารถส่งเรื่องมาให้ป.ป.ง.ตรวจสอบได้ นายธีรัจชัย กล่าวว่า ป.ป.ง.มีแรงกดดันหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อาจมีการทราบเป็นการภายในว่าเรื่องนี้อาจผู้มีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องจึงทำให้เกรงว่าอาจมีการแทรกแซงทางการเมือง ในประเด็นนี้ตัวแทนป.ป.ง.ยืนยันว่าป.ป.ง.มีนโยบายมาตลอดว่าการตรวจสอบต้องเน้นข้อมูลและความถูกต้องเท่านั้น โดยผู้มีอำนาจกำกับดูแลป.ป.ง.มีสองส่วน คือ คณะกรรมการป.ป.ง.และคณะกรรมการธรุกรรม โดยในส่วนของคณะกรรมการธุรกรรมมีผู้แทนศาลปกครอง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมทำหน้าที่นี้ ซึ่งเป็นหลักประกันในการทำงานอยู่แล้ว ขณะที่ คณะกรรมการป.ป.ง.จะมีปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงต่างประเทศ เข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยมีพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เป็นประธานกรรมการป.ป.ง. ส่วนเรื่องนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือบอย นั้นตรวจจากฐานข้อมูลพบว่าไม่พบข้อมูล ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายป.ป.ง. อย่างไรก็ตาม การจะตรวจสอบเส้นทางการเงินจะต้องมีคำสั่งศาลด้วย