เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ เลขาธิการแพทยสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร มาประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์และเจลขาดแคลน โดยได้รับข้อเท็จจริงว่า 1. ขณะนี้มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้บุคคลากรทางการแพทย์วันละ 1.2 ล้านชิ้นได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 500,000 ชิ้น โรงพยาบาลนอกสังกัด 90,000 ชิ้น โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย 130,000 ชิ้น โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชน 200,000 ชิ้น โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพฯ 80,000 ชิ้น และกระจายให้กลุ่มเสี่ยงที่ถูกกักตัว 150,000 ชิ้น 2. โรงงานผลิตในประเทศ 11แห่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งติดสัญญาการผลิตและส่งออกเฉพาะ ไม่สามารถนำมาขายให้คนไทยได้ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรัฐสั่งซื้อหน้ากากอนามัยจากจีนผ่านดีลเลอร์เพราะราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกิดโรคระบาดในจีนจึงเกิดขาดแคลน 3. การขายหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์เกินราคา ไม่ได้มาตรฐานผ่านออนไลน์นั้น สคบ. กรมการค้าภายใน ตำรวจจะไปติดตามจับกุมดำเนินคดี นายสมชาย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กมธ.มีข้อเสนอว่า ควรให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์โควิด-19 เพียงศูนย์เดียวลักษณะเดียวกับศูนย์บัญชาการกรณีถ้ำหลวง เพื่อลดความสับสนก่อนแถลงข่าวแต่ละวันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชุมซักซ้อมข้อมูลให้ถูกต้องก่อน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจง่าย บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดกับผู้ขายสินค้าเกินราคา นอกจากนี้หากต้องออกมาตรการใดจะต้องหารือจนได้ข้อสรุปทุกมิติ ไม่ใช่ออกมาตรการแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปกระทบอีกปัญหาหนึ่ง ที่สำคัญตำรวจต้องเร่งติดตามความคืบหน้าคดีนายบอยที่โปรโมทขายหน้ากาก200ล้านชิ้น ภายหลังพบมีความเกี่ยวโยงกับแกนนำพรรคการเมืองหนึ่ง แต่คดีไม่คืบหน้า ไม่มีการลงโทษ แต่มาไล่จับแม่ค้ารายย่อยตามถนน ศาลตัดสินจำคุกแบบรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านอาจไม่เชื่อใจในกระบวนการยุติธรรมได้