เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 24 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการยกเลิกแถลงข่าวจับกุมต้องหา นำเข้าข้อมูลเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยผู้ต้องหาอ้างว่าเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศสเปน เมื่อมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลับไม่มีมาตรการตรวจร่างกายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 แต่อย่างใด พร้อมทั้งมีการนำภาพเก่ามาประกอบการโพสต์ ซึ่งเป็นความเท็จ เนื่องจาก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ติดภารกิจ จึงขอยกเลิกการแถลงข่าว ก่อนมีการออกแถลงการณ์หรือข่าวในกลุ่มแอพพลิเคชั่นไลน์ "แจ้งข่าว บก.ปอท." ให้กับสื่อมวลชนแทน โดยระบุว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 กำลังเป็นประเด็นที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากความรวดเร็ว และแพร่หลายในการใช้สื่อออนไลน์ หากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวก่อน อาจสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนได้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีนโยบายให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) มีภารกิจที่ต้องดำเนินการสืบสวนปราบปรามผู้กระทำความผิดในมิติของการนำเข้า หรือเผยยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงข่าวปลอมที่ถูกเผยแพร่หรือส่งต่อในโลกอินเตอร์เน็ตด้วย เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 ภายใต้การอำนวยการของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบช.ก. พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.5 บก.ป. และ ว่าที่ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ดำเนินการ “ปฏิบัติการปราบปรามข่าวปลอมโควิด-19” โดยได้จับกุมชายไทยผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 400/2563 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่บ้านพักในจังหวัดภูเก็ต โดยพฤติการณ์ในคดี คือ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.63 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ที่มีผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นผู้ใช้ได้โพสต์ข้อความอันมีเนื้อหากล่าวถึงมาตรการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อีกทั้งมีการนำภาพถ่ายจากเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งหนึ่งซึ่งเป็นภาพเก่าถ่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลที่ผู้ต้องหานี้ โพสต์นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากมาตรการคัดกรองผู้โดยสารของกรมควบคุมโรคของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการคัดกรองครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณโถงผู้โดยสารขาเข้าซึ่งบริเวณดังกล่าว มีการติดตั้งจุดคัดกรอง (เครื่องเทอร์โมสแกน) และมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามจุดคัดกรองดังกล่าวตลอด โดยจากการโพสต์ข้อมูลดังกล่าวของผู้ต้องหา ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เสียความเชื่อมั่นต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากประชาชนอาจเข้าใจผิดไปว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่มีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศ เพื่อคัดกรองเชื้อไวรัส โควิด-19 เป็นเหตุให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย . ต่อมาได้ดำเนินการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายจับผู้ต้องหานี้ และนำไปสู่การจับกุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในข้อหา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(2) กรณีที่ประชาชนตรวจพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์ ท่านสามารถแจ้งข้อมูลมายังบก.ปอท. หมายเลข 02-1422556 และ 02-1422557 หรือทางเว็บไซต์ tcsd.go.th เพื่อดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้นำเข้าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อไป ฝากถึงประชาชนช่วงนี้มีการสร้างข่าวปลอมบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จึงขอให้พี่น้องประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลโดยขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับสำนักข่าวหลักหรือเว็บไซต์ของทางราชการ หรือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand) ก่อนที่จะเชื่อ และส่งต่อข้อมูล (แชร์) ไปยังผู้อื่น