บรรยง วิทยวีรศักดิ์ ผู้เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอากาศที่ร้อนของไทยว่า น่าจะมีผลชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุดกลับมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงแรกว่าคลาดเคลื่อน ทำให้ประชาชนตีความผิด แต่พร้อมร่วมมือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล รวมถึงได้เสนอให้รัฐสร้างอาสาสมัครต้านโควิด-19 เพื่อลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ อ่านความคิดเห็นของคุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Financial Services Association) ได้ข้างล่างนี้ “โควิด-19 ไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวคือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทำให้ประชาชนประเมินสถานการณ์ผิดพลาด” คงจำกันได้ว่า เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ผมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนคนที่ติดเชื้อในประเทศที่มีจำนวนน้อย และคิดว่าน่าจะมาจากอากาศร้อน ทำให้คนป่วยเป็นโรคโควิด-19 ในอัตราต่ำ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเชิญนักวิชาการมาตอบข้อสงสัยว่าสมมติฐานที่ผมตั้งนั้นถูกต้องไหม ถัดมาสัปดาห์เดียว มีคุณหมอท่านหนึ่งจากรพ.หาดใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนติดเชื้อโควิดน้อย แต่มีคนป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากไวรัส (Viral Pneumonia) เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ บังเอิญช่วงนั้นไม่มีใครสามารถฟันธงว่า ข้อมูลดังกล่าวเชื่อถือได้แค่ไหน เพราะไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานของรัฐ เราจึงเพียงรับฟังข้อมูลเอาไว้ สัปดาห์ที่แล้ว มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19ในกลุ่มทองหล่อ ได้แสดงข้อสงสัยว่า พวกตนที่ไปกินเที่ยวที่ทองหล่อ ไม่ได้ดื่มกินกับชาวฮ่องกงตามที่เป็นข่าว มีแต่คนไทยที่เป็นเพื่อนของเพื่อนชาวฮ่องกงมาเพียงคนเดียว ตอนที่ไปเที่ยวทุกคนแข็งแรงดี แต่พอกลับมาได้ 4-5 วัน เริ่มมีอาการไข้ จึงได้ไปโรงพยาบาลของรัฐ แต่ไม่มีใครได้รับการตรวจเนื่องจากไม่มีประวัติไปเที่ยวต่างประเทศหรือใกล้ชิดชาวต่างชาติ จนเมื่อผ่านไปอีก 5 วัน เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มจึงได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนพบว่าเป็นโรคโควิด-19 จึงทำให้เพื่อนในกลุ่มทุกคนต้องไปตรวจและพบว่าเป็นโรคโควิด-19 แทบทั้งหมด เขาจึงได้ตั้งคำถามว่า พวกเขาไม่ได้ติดต่อกับชาวต่างชาติแต่กลับป่วยเป็นโรคโควิด-19 พวกเขาน่าจะติดเชื้อจากคนไทยด้วยกัน แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง พยายามปั้นเรื่องว่าไปดื่มกินกับชาวฮ่องกงเพื่อหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า มีการติดเชื้อในกลุ่มคนไทยด้วยกันแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งคือกำลังขยับเข้าสู่เฟส 3 แล้ว ผมอ่านข้อมูลทั้งหมดแล้ว ไม่ขอตัดสินในประเด็นดังกล่าว แต่อยากจะบอกว่า ถ้ารัฐป้อนข้อมูลที่คลาดเคลื่อน มันจะมีผลทำให้พวกเราในฐานะประชาชนประเมินสถานการณ์ผิดพลาด จนอาจนำไปสู่ความชะล่าใจ แต่ผมเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะรู้ข้อมูลที่แท้จริงมาโดยตลอด จึงพยายามตอกย้ำว่าในเดือนมีนาคมหรือเมษายนนี้ ผู้ป่วยจะพุ่งทะยานอย่างแน่นอน ซึ่งขัดกับความรู้สึกของพวกเราที่ว่ามันเป็นกลางหน้าร้อน เอาละผมไม่โทษรัฐบาลหรอก ผมเชื่อว่ารัฐบาลก็คงมีเหตุผลที่จะไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนกและหวังว่าจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถฝืนความจริงไปได้ ทำให้ยอดผู้ป่วยทะลักออกมามากในช่วงนี้ ต้องใช้มาตรการสูงสุดคือปิดสถานที่ที่ผู้คนจะมารวมกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือสถานบันเทิง เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยน ในสัปดาห์ที่แล้วผมจึงได้เสนอให้พวกเราที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค ตั้งการ์ดสูงขึ้น คือใส่หน้ากากตลอดเวลาและหมั่นล้างมือเมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชน ในเวลาเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีหมอท่านหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มแพทย์ที่รักษาคนไข้ที่รพ.บำราศนราดูร ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับอาการของคนไข้ทั้งที่มาจากกลุ่มสนามมวยและย่านทองหล่อ โดยระบุว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มาจากย่านทองหล่อมีอาการน้อยมาก จนบางคนแทบไม่รู้ตัวว่าป่วย ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มที่มาจากสนามมวย ที่มีอาการรุนแรง เข้าใจว่าเป็นเชื้อคนละสายพันธุ์(strain)กัน ผมจึงเกิดความคิดว่า ในภาวะวิกฤติที่มีปัญหาคนตกงาน (เนื่องจากกิจการร้านค้าจำนวนมากต้องถูกปิด) บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ และวัคซีนก็ยังไม่ออกมา เราสามารถสร้างโอกาสขึ้นได้ ด้วยการสร้างอาสาสมัครภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 กล่าวคือ เมื่อเราทราบว่าสายพันธุ์โควิด-19 ที่ทองหล่อเป็นสายพันธุ์อ่อนที่ทำให้มีอาการน้อยหรือไม่มีเลย ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศรับอาสาสมัครหนุ่มสาวที่มีอายุตั้งแต่ 25-35 ปีเข้าทดลองรับเชื้อจากผู้ป่วยที่มีสายพันธุ์นี้(สายพันธุ์ทองหล่อ) โดยเรามีสมมติฐานว่า คนหนุ่มสาวจะมีภูมิต้านทานสูง ดังนั้นให้รอสัก 5-10 วันหลังรับเชื้อ เมื่อเริ่มมีอาการหรือตรวจเจอเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ก็ดูแลใกล้ชิด รักษาอาการสัก 10-15 วัน เมื่อหายดีแล้ว โดยทฤษฎี พวกเขาต้องมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แล้ว จากนั้นให้ไปลองสัมผัสผู้ป่วยกลุ่มสายพันธุ์สนามมวยว่า ยังติดโรคซ้ำไหม (ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำสอง) ถ้าติดโรค ก็ดูแลกันไป เป็นคนหนุ่มสาวก็น่าจะหายง่าย อาการน้อย แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกัน และไม่ป่วยแล้วตามคาด พวกเขาคือความหวังของเรา เราจะมีมนุษย์ต้านทานโควิด-19 ที่ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นการสร้างงานที่มหัศจรรย์ เราต้องยอมรับว่า ตอนนี้พวกเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม มันไม่ใช่สงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แต่เป็นสงครามระหว่างมนุษย์กับไวรัสมหาภัย ในภาวะอย่างนี้ต้องมีผู้กล้าที่ออกมาพร้อมจะออกไปประจัญบานกับข้าศึก แล้วถามว่าพวกเขาจะได้รับอะไรเป็นผลตอบแทน 1. การรับเงินก้อนเมื่อมีภูมิคุ้มกันแล้ว อาจจะสัก 50,000 บาท 2. รัฐบาลพร้อมรับเข้าทำงานในการดูแลผู้ป่วย รับส่งผู้ป่วยโควิด-19 (หรือแม้แต่ช่วยงานสัปเหร่อ ในภาวะที่ทุกคนรังเกียจโรคนี้) เป็นการแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้นับเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับค่าตอบแทนสูง อาจจะเดือนละ 50,000 บาท อย่างน้อย 1 ปี มีข้อปฏิบัติเหมือนข้าราชการทั่วไป 3. ในระหว่างการสร้างภูมิ ให้ทางราชการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และต้องสร้างความมั่นใจว่าทางราชการจะดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าช่วยเหลือหากมันผิดไปจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ งบที่เคยคิดจะเอามากระตุ้นเศรษฐกิจเอามาแจกชาวรากหญ้า ควรเอามาใช้แก้ไขปัญหานี้ด่วนที่สุด 4. เพื่อสร้างหลักประกันให้กับผู้เสียสละ กระทรวงสาธารณสุขต้องสมัครทำประกันชีวิต(จากโรคโควิด-19 )ให้พวกเขาคนละ 1 ล้านบาท หากมีการผิดพลาดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ถ้าเราขอการสนับสนุนจากสมาคมประกันชีวิตไทย ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทประกันชีวิตทั้งหมด ให้ร่วมรับประกันชีวิตอาสาสมัคร 10 ท่านแรก ในทุนประกันคนละ 1 ล้านบาท โดยมีข้อตกลงว่า ถ้ามีคนเสียชีวิต 3 คน หรือ มากกว่า 20% ของอาสาสมัคร ให้ยุติโครงการทันที ผมเชื่อว่ามีบริษัทที่พร้อมจะเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์หลายบริษัท ซึ่งถ้าเขาเชื่อในทฤษฎี เขาต้องเชื่อว่า อาสาสมัครที่ยังหนุ่มแน่นจะป่วยน้อยและเมื่อมีภูมิคุ้มกันแล้ว เขาควรมีภูมิต้านทานไปตลอดหรืออย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่ได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ โอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 จึงน้อยมาก 5. เมื่อโครงการสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาตินี้ประสบความสําเร็จในชุดแรก เราจะขยายการรับสมัครเพิ่มขึ้นครั้งละ 50-100 คน ใช้ค่ายทหารหรือโรงแรมที่จะให้เข้าร่วม โดยมีการกักตัวที่เข้มงวด หากเราสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่นี้ได้แล้ว พวกเขาจะมีงานที่มีรายได้ดี เมื่อจบโครงการ ซึ่งหมายถึงเมื่อมีการคิดวัคซีนโรคนี้ขึ้นมาได้แล้ว (อาจจะอีก 1-2 ปี)ให้ทางราชการให้สิทธิ์บุคคลเหล่านี้ในการได้งานของทางการก่อนผู้อื่น 6. หากมีการสร้างอาสาสมัครภูมิคุ้มกันนี้ได้พอสมควร สักประมาณ 3,000 คน เรายังสามารถส่งออกไปทำงานช่วยประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์หรือแม้แต่ประเทศอเมริกาหรือยุโรป โดยมีเงื่อนไขให้ประเทศปลายทางจ่ายค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อ และมีประกันชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท แต่ผู้สมัครไปทำงานต่างประเทศต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการสร้างภูมิคุ้มกันที่รัฐเคยออกให้ทั้งหมดก่อน เช่น 1 แสนบาท เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นโดยภาพรวมคือการตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือ สร้างโอกาสในการแก้ปัญหาคนตกงาน ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในประเทศของเราทางอ้อม ในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และใช้ภาวะผู้นำในการตัดสินใจ ส่วนอาสาสมัคร ผมเชื่อว่าหาไม่ยาก ถ้าเราให้ผลตอบแทนที่ดี ให้ความมั่นใจ และรับประกันในการจ้างงานระยะยาว (หลังจบโครงการ รายได้/เงินเดือน จะได้ตามวุฒิ ตามตำแหน่งที่รัฐรับสมัครเหมือนข้าราชการทั่วไป) เราอาจเป็นประเทศเดียวในโลกที่ริเริ่มโครงการนี้ แต่ให้พวกเราคิดดูเถิด ที่ผ่านมาคนไทยนั้นห้าวหาญนัก สู้ศึกสงครามมาแล้วนับร้อยครั้ง หลั่งเลือดมานับไม่ถ้วน เพื่อปกป้องประเทศชาติและชาวประชา นี่จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเราจะพิสูจน์ว่า ใจคนไทยนั้นไม่ครั่นคร้ามต่อภัยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอริราชศัตรู หรือไวรัสมฤตยูก็ตาม ข้อมูลอ้างอิง https://today.line.me/th/pc/article/หมอหาดใหญ่+ตั้งคำถาม+ที่ไทยติดโควิค+19+น้อย+แต่ทำไมป่วยปอดอักเสบดันพุ่งสูง-eYO8eg https://www.matichon.co.th/covid19/news_2073992 https://en.wikipedia.org/wiki/Herd_immunity https://www.businessinsider.com/coronavirus-covid19-day-by-day-symptoms-...