พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า... การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ‘ทำไม นายทุนต้องมาก่อนเสมอ’ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม รัฐบาลให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ว่า ธปท. ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการ ก.ล.ต. ประธานสมาคมธนาคารไทยและคณะ ร่วมแถลงเรื่องมาตราการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็น ‘มาตรการรองรับโควิด-19’ แต่สาระที่รวมกันแถลงมุ่งช่วยเหลือผู้ซื้อตราสารหนี้ กองทุนรวมในตลาดเงิน ตลาดทุนที่เป็นปัญหาของคนมีโอกาส หรือคนรวย ซึ่งขอเรียกว่า ‘นายทุน’ โดยมี 3 มาตรการสำคัญ คือ มาตรการแรก ‘ตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้’ มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวม ให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงินได้โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท. ได้ มาตรการที่สอง ‘ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง’ เพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ มาตรการที่สาม มีกลไกที่ดูแลตลาดบอนด์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของตลาดตราสารหนี้ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตไวรัส โควิด-19 ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด คือผู้มีอาชีพใช้แรงงาน ประกอบธุรกิจค้าขายและอาชีพต่างๆต้องหยุดงานและปิดกิจการ ทำให้ขาดรายได้เกิดความเสียหาย ได้รับกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่เจ้าของบริษัท ห้างร้าน พนักงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างรายวัน แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ เด็กรับรถ พนักงานทำควาสะอาด ยาม แรงงานนอกระบบ อาทิ หาบเร่ แผงลอย หรือขับรถรับจ้าง และครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ไม่มีรายได้อื่น บางคนไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตเกิน 1 วัน ไม่สามารถที่จะกักตุนอาหาร อาจถึงอดตายได้ ไม่มีเงินค่าเช่าที่พักอาศัย แหล่งเงินก็ต้องไปกู้นอกระบบมา ไม่สามารถกู้เงินธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินได้ การช่วยเหลือเยียวยาที่สำคัญที่สุดคือต้องให้คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างความเป็นมนุษย์ เบื้องต้นต้องปลอดภัยจากโรคติดต่อ อยู่ได้โดยมี ปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดก่อน พร้อมกับมีมาตรการอื่น ๆ ตามมา การที่ นายกอบศักดิ์ และแถลงถึงมาตราการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่เป็น ‘นายทุน’ ก่อนนั้น อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่มีความเป็นธรรม จึงมีคำถามว่า ได้จัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือเหมาะสมแล้วหรือ? ทำไมไม่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงเป็นการเร่งด่วนก่อน? และการที่อ้างว่ามาตราการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องรอประชุม ครม. ก่อนนั้น จึงสงสัยว่า ทำไมกรณีของนายทุนจึงไม่ต้องรอประชุม ครม.ก่อน? และแรงงานนอกระบบ เช่น หาบเร่ แผงลอย ร้านค้ารายย่อยตามริมถนน ตรอก ซอกซอยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมเหมือนนายทุน ทำไมถึงถูกเลือกปฏิบัติ? ดังเป็นที่ทราบทั่วกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะให้ความสำคัญกับเจ้าสัว กลุ่มนายทุน และข้าราชการ มากกว่า จึงพบมาโดยตลอดว่านโยบายที่ออกมามักขาดการมีส่วนรวมของผู้ได้รับผลกระทบและภาคส่วนประชาชน จึงเป็นลักษณะ นโยบายที่ว่า ‘นายทุนต้องมา ก่อนเสมอ’