วันที่ 23 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 04.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานไปรษณีย์อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ,เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอท่าบ่อ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าบ่อ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกันคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางกลับกลับมาจากกรุงเทพและปริมณฑล สำหรับการคัดกรองในครั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว และส่งข้อมูลผู้ที่เดินทางมาในพื้นที่ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่เพื่อติดตาม ซึ่งหลังที่กรุงเทพมหานครได้ประกาศปิดจุดสำคัญ ย่านการค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้โดยสารเดินทางมากลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่ง บขส. ได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้โดยสารและขอให้ผู้โดยสารที่เดินทางเตรียมความพร้อมในการเดินทางให้ดี สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างขณะใช้บริการในสถานีขนส่ง รวมทั้งเร่งจัดหารถเสริม เพื่อระบายผู้โดยสารออกไป ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ การเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาจะเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือทุกจังหวัด ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พํานักหรือ ที่พักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลําเนา แจ้งผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปฏิบัติตามคําแนะนํา อย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้ ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ,ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อม ,ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ นาน 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ลูบมือจนแห้ง ,หลีกเลี่ยงการพูดคุย ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ,หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยทันที ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง มาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน ในหนังสือระบุว่า จากสถานการณ์เชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันและความเสี่ยงการแพร่ระบาดในหมู่บ้านและชุมชน ตลอดจนป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการติดเชื้อ จึงขอให้จังหวัด แจ้งอำเภอ เพื่อประสาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเทศบาล ดำเนินการในการค้นหา และเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทุกแห่งในอำเภอ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร จากต่างประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด เช่น สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า สนามชนโค สนามชนไก่ สถานบันเทิง หรือไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.เป็นต้นมา หากพบผู้ใดที่เข้าข่าย ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน นับตั้งแต่บุคคลดังกล่าวเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และขอความร่วมมืองด หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกหมู่บ้านหรือ ชุมชน และรายงานข้อมูลให้เทศบาล และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง พร้อมสรุปข้อมูลให้ทางอำเภอรับทราบ สำหรับ มาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อภายในหมู่บ้านหรือ ชุมชน กรณีกลุ่มที่เดินทางจาก กรุงเทพมหานคร และต่างประเทศ หรือจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด กรณีมีอาการป่วย ให้กำนัน ผู้ใหญ่ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ประสานสาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบทันที เพื่อเข้ารับการรักษา และประเมินอาการ หากเข้าข่ายสงสัยว่า จะติดเชื้อโควิด-19 ให้ดำเนินการตามมาตรการที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดกำหนด พร้อมทำความสะอาดฆ่าเชื้อในจุดดังกล่าวเพื่อป้องกันโดยเร็ว ส่วนบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด ให้ดำเนินตามมาตรการคัดกรอง แยกกักตัวอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในกรณีที่หมู่บ้านหรือชุมชน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการควบติดต่อจังหวัด ได้พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ 2558 ในการปิดการเข้า-ออก หมู่บ้านหรือชุมชนนั้นไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยต้องรายงานกระทรวงมหาดไทยทราบทุกครั้ง พร้อมทั้งให้เก็บข้อมูลผู้เดินทางเข้าหมู่บ้านและชุมชนด้วย. ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย