พาณิชย์ประเมิน กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ดันส่งออกเพิ่ม 385 ล้านเหรียญฯ-ฉุดเงินบาทอ่อน-เพิ่มรายได้เกษตรกร-ต้นทุนธุรกิจลดลง มั่นใจรัฐใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือโควิด-19 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เพื่อรองรับการระบาดของ COVID-19 ที่อาจจะรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยวัตถุประสงค์หลักในการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเน้นผลเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากได้ความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ อาทิ การยืดระยะเวลาชำระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชน เป็นต้นจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลต่อการค้าในด้านต่างๆเช่น ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ตามการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตร โดยหากสินค้าเกษตรขายแล้วรับเป็นเงินบาทมากขึ้นจะเป็นผลดีต่อรายได้ของเกษตรกร แต่สำหรับภาคการนำเข้า โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาชิ้นส่วนและวัตถุดิบนำเข้าสูง อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามเงินบาทที่อ่อนค่าลง จึงควรเตรียมพร้อมรับมือด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งหากเงินบาทอ่อนไปอีกระยะหนึ่งจะช่วยประคองการส่งออกไปได้บ้าง ท่ามกลางปัจจัยกดดันอื่นๆ โดย สนค.คาดการณ์ว่าการลดลงของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 จะส่งผลให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันการลดอัตราดอกเบี้ยรวมกับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก จะส่งผลให้ต้นทุนในการบริโภคและการลงทุนลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คงจะได้รับผลจากการลดดอกเบี้ยไม่มากนัก แต่ปัจจัยราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยกดดันลงที่มีน้ำหนักมากกว่า และอีกปัจจัยที่น่าจะมีผลต่อเงินเฟ้อ จะเป็นราคาสินค้าอาหารที่มีอุปสงค์ในประเทศมากขึ้น แต่อุปทานอาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ดังนั้นเมื่อหักกลบลบกัน คิดว่าปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อน่าจะเป็นเรื่องอื่นมากกว่าการลดดอกเบี้ย สำหรับการส่งออก สนค.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กรอ. พณ. และ War Room ได้ประสานกับภาคเอกชนและสอบถามโดยตรงกับผู้ผลิตที่เป็นเครือข่ายในการทำดัชนีราคานำเข้าส่งออกได้รับข้อมูลตรงกันว่า หลายสินค้ามียอดสั่งซื้อลดลงหรือทรงตัว แต่มีข้าว ไก่ กุ้ง ที่มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก แต่น่าจะยังไม่กระทบต่อความต้องการในประเทศเช่น ข้าว ขอยืนยันว่ายังมีขายในประเทศเพียงพอแน่นอน โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามดูแลปริมาณการผลิตและการนำสินค้าจำเป็นเข้าสู่ตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้มาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะการกระตุ้นเพื่อป้องกันไม่ให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงมากเกินไป เพราะอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมนั้น สนค.มองว่า งบประมาณของรัฐบาลที่กำลังจะมีเม็ดเงินออกมาในระบบเร็วๆนี้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งหากหน่วยงานมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการใช้จ่าย ให้สามารถเน้นกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนเกษตรกร SME และประชาชนที่ต้องการงานและรายได้ในเวลานี้ได้จะช่วยประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ในระยะนี้ ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคบริการเช่น ท่องเที่ยว ช่วยเหลือแรงงาน และ SME หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป