นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า... * ประเทศไทยยังมีโอกาสหลีกเลี่ยงหายนะได้ ถ้า.....(ตอนที่ 1) จากการรายงานในวันที่ 21 มี.ค.63 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 89 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 411 คน ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆที่กำลังมีการแพร่ระบาดรุนแรง ก็อาจจะรู้สึกได้ว่าตัวเลขยังไม่สูง แต่ถ้าดูจากตัวเลขของไทยเองที่ผ่านมาตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อคนแรก จะพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยเราอยู่ในระดับต่ำและเพิ่มอย่างช้าๆอยู่นาน จนกระทั่งไม่กี่วันนี้จำนวนตัวเลขจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าดูตัวเลขจากวันที่ 17 มีค.เป็นต้นมาจะพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 20 % หรือกว่านั้น ของวันที่ 21 มีค.เพิ่มจากวันที่ 20 มีค.ถึง 27.64 % ด้วยอัตราเร็วแบบนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเป็นสองเท่าในเวลาประมาณ 3 วัน ถ้าเร็วกว่านี้ก็จะเป็นสองเท่าในเวลาน้อยกว่านั้น คำนวณคร่าวๆ ถึงวันที่ 25 อาจมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1,000 คน มีผู้คำนวณตัวเลขน่าตกใจกว่าที่ผมลองคำนวณนี้อีกเยอะเลยครับ คุณหมอบางท่านคำนวณว่าตัวเลขผู้ป่วยอาจสูงมากคือนับจากวันที่ 19 มีนาคมไปอีก 10 วันจะเป็น 5,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ประมาณ 400 คน ในวันที่ 20 มีค.นี้เองก็มีการเปิดเผยข้อมูลว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการขาดแคลนน้ำยาและเครื่องมือ รวมทั้งของสภากาชาดไทยด้วย ห้องปฏิบัติการบางแห่งประกาศปิดรับตัวอย่างแล้ว การตรวจทำได้อย่างจำกัด สภาพโรงพยาบาลห้องไม่พอ ล่าสุดร.พ.รามาธิบดีประกาศปิดรับบริการตรวจโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 20 มีค.เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป ด้วยข้อมูลอย่างนี้ ใครๆก็ต้องวิตกกังวลกันทั้งนั้น ว่าสถานการณ์จะแย่ลงแค่ไหน เราจะทำกันอย่างไร รัฐบาลมักพูดอยู่เสมอเหมือนท่องคาถาว่า “อย่าตื่นตระหนก” ผมก็เห็นด้วยว่าต้องช่วยกันทำให้ไม่เกิดการตื่นตระหนก แต่การจะทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกนั้นไม่มีอะไรดีกว่าการมีมาตราที่ดีที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้และอธิบายให้เห็นว่ามาตรการที่ดีนั้นคืออย่างไร ประชาชนจะให้ความร่วมมือได้อย่างไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อได้รับผลกระทบจากมาตรการจะได้รับการดูแลอย่างไร ผมอยากเชิญชวนให้ทุกท่านตั้งหลักตั้งสติกันก่อน มาช่วยกันคิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะทำยังไง ผมยังคิดว่าถึงแม้สถานการณ์จะแย่ลงอย่างรวดเร็วและกำลังจะแย่ลงไปอีก เราก็ยังสามารถหาทางรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ แต่สำคัญรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจครับ หารือกันให้ดีแล้วตัดสินใจให้เด็ดขาด กำหนดมาตรการให้ชัดเจนแล้ว ถ้าร่วมมือกันทุกฝ่ายทุกคน เรายังพอมีทางหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่ครั้งนี้ได้ ถ้าไม่ตัดสินใจ ยังคงทำกันไปอย่างที่ทำอยู่ จะเสียหายอีกมากอย่างแน่นอน * ประเทศไทยยังมีโอกาสหลีกเลี่ยงหายนะได้ ถ้า.... (ตอนที่ 2) ปิดประเทศ !!! "ยุทธศาสตร์ในการจัดการกับโคโรนาไวรัสของทั่วโลกนั้นคือต้องควบคุมไม่ให้มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนคือไม่ให้ผู้ติดเชื้อกับคนปรกติสัมผัสกัน แต่ประเทศไทยกลับเปิดเสรีให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเข้าประเทศมาอย่างไม่จำกัดและไม่มีการกักตัว สภาพอย่างนี้ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้" ขอเสนอมุมมองทางด้านนโยบายว่าเราจะต้องเตรียมรับกับอะไรและเฉพาะหน้าจะต้องตัดสินใจเรื่องอะไร สถานการณ์ในประเทศน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกที ขณะนี้หลายประเทศเข้าสู้ขั้นที่แพร่ระบาดภายในอย่างกว้างขวางและรวดเร็วชนิดที่คงหยุดไม่อยู่ในเร็วๆนี้แล้ว แต่ก็มีบางประเทศที่เริ่มมีปัญหามาแต่แรกที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ จีนคุมเข้ม ปิดเมือง อยู่แต่ในบ้าน ควบคุมสถานการณืได้แล้ว ไต้หวันห้ามคนจากประเทศเสี่ยงเริ่มจากจีนและซึ่งอยู่ติดกันเข้าประเทศโดยเด็ดขาดตั้งแต่เนิ่นๆ ให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว ไม่ปิดบ้าน เมื่อไม่มีการระบาดก็สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ด้วย สิงคโปร์มีระบบสาธารณสุขที่ดีเยี่ยม ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อ เน้นการตรวจหาเชื้อ ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด แต่ไม่ปิดโรงเรียน เน้นการจำกัดการเข้าประเทศจากประเทศเสี่ยตั้งแต่ต้น การคัดกรอง ติดตามหาผู้ที่อาจติดเชื้อและการกักตัวที่เคร่งครัดมีประสิทธิภาพ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ฮ่องกง ทั้งรัฐบาลและประชาชนมีประสบการณ์จากการรับมือกับซารส์มาก่อน จึงใช้มาตรการต่างๆได้ดี ประชาชนรู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ที่สำคัญคือการเข้มงวดอย่างมากต่อผู้ที่เดินทางมาจากจีนและประเทศเสี่ยงมาตั้งแต่ต้น อีกหลายประเทศที่จัดการได้ดี มีผู้ติดเชื้อเพิ่มน้อยและช้า ใช้มาตรการเข้มภายในในลักษณะต่างๆกัน แต่ที่มีจุดร่วมกันก็คือการจำกัดการเข้าประเทศอย่างเด็ดขาดและมีการกักตัวอย่างเข้มงวด ความจริงมาตรการที่ใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆก็พอเป็นที่รู้กันอยู่ ปัจจัยของความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ความรวดเร็วทันการณ์ ความเป็นระบบ มาตรการที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ความโปร่งใสความน่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมของประชาชน การจะใช้มาตรการใดเข้มข้นแค่ไหนก็แตกต่างกันไปตามสภาพเงื่อนไขของแต่ละประเทศและในแต่ละช่วงเวลา สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเป็นประเทศแรกก็มีการใช้มาตรการต่างๆแล้วหลายด้านมีการให้ความรู้ต่อประชาชนค่อนข้างดี ด้านอื่นๆมีปัญหามาก ที่สำคัญก็คือมาตรการต่างๆส่วนใหญ่ไม่ทันการณ์ ไม่ชัดเจน ไม่เข้มงวดเคร่งครัดและไม่เป็นระบบ ขาดการวางแผนให้ดีเสียก่อนที่จะใช้และมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดเอกภาพและการบูรณาการหรือประสานงานระหว่างผู้รับผิดชอบ จำเป็นต้องมีการยกเครื่องมาตรการทุกด้านครั้งใหญ่ ซึ่งคงต้องช่วยกันคิดช่วยกันเสนอต่อไป แต่เรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ควรทำก่อนเรื่องอื่นก็คือต้องรีบจำกัดวงของปัญหาให้เล็กลงเสียก่อน นั่นก็คือต้องไม่ปล่อยให้มีการเดินทางจากประเทศเสี่ยงอย่างเสรีอีกต่อไป จะได้เหลือแต่การควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศเท่านั้น ที่ผ่านมาน่าจะเรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ใช้นโยบายเปิดเสรีให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงโดยไม่มีการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพคือมีเพียงการวัดไข้ซึ่งแทบไม่ได้บอกอะไร มีการกักตัวดูแลคนไทยกลุ่มเล็กๆอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มีการกักตัวที่มีประสิทธิภาพหรืออาจพูดได้ว่าไม่มีการกักตัวใดๆเลย เมื่อไม่มีการติดตามว่าผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยงอยู่ที่ไหน ทำอะไร และเมื่อผู้ที่เดินทางเข้ามาไปแพร่เชื้อมากขึ้นก็ไม่มีการห้ามการทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากและแออัด การแพร่ระบาดก็เกิดขึ้น จนถึงขั้นที่เป็นการระบาดจากภายในประเทศด้วยกันเองแล้ว จึงเพิ่งห้ามการทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากบางประเภท ล่าสุดนายกรัฐมนตรีพูดเชิญชวนให้คนในกรุงเทพและปริมณฑลอยู่บ้านซึ่งก็ไม่ใช่มาตรการที่ชัดเจน ไม่มีกำหนดเวลาและไม่ได้ประกาศหยุดงาน ล่าสุดก็มีการปิดสถานที่ต่างๆเพิ่มขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งก็ไม่มีมาตรการรองรับปัญหาที่ตามมา ขณะที่รัฐบาลยังปล่อยให้คนเดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศมาได้วันละหลายพันคนโดยเสรี ย้อนแย้งกันที่สุด ยุทธศาสตร์ในการจัดการกับโคโรนาไวรัสของทั่วโลกนั้นคือต้องควบคุมไม่ให้มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนคือไม่ให้ผู้ติดเชื้อกับคนปรกติสัมผัสกัน แต่ประเทศไทยกลับเปิดเสรีให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเข้าประเทศมาอย่างไม่จำกัดและไม่มีการกักตัว สภาพอย่างนี้ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ ปล่อยไว้เช่นนี้ จะเสียหายยับเยิน ดังนั้นต้องมาวางแผนจัดระบบกันใหม่หมดและเรื่องที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือการ “ปิดประเทศ” ครับ “ปิดประเทศ” แปลว่าอะไร จะยกเครื่องมาตรการต่างๆอย่างไร คุยกันต่อครับ ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก - Chaturon Chaisang