กรมประมง เปิดตัวโครงการ “สร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน” Kick Off ปล่อยกุ้งก้ามกรามพร้อมกัน 5 จังหวัด 1 ล้านตัว         เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ณ อ่างเก็บน้ำห้วยวังแดง อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กรมประมง เปิดโครงการ“สร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน” ตั้งเป้าปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามจำนวน 287,200,000 ตัว ลงแหล่งน้ำชุมชนจำนวน 1,436 แห่ง ในเขตพื้นที่ 19 จังหวัด หวังพลิกวิถีเกษตรกรสร้างรายได้ให้ชุมชนหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 62 ประเดิม ปล่อยกุ้งก้ามกรามจำนวน 1 ล้านตัวลงแหล่งน้ำชุมชนพร้อมกัน 5 จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และจังหวัดพิจิตร             นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากวิกฤติฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยเมื่อปี 2562 ส่งผลให้ภาคการเกษตรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือได้รับความเดือดร้อนและสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งสำรวจความเสียหายพร้อมดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ให้กับเกษตรกรอย่างเร่งด่วน และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 ทั้งในด้านเกษตร ปศุสัตว์และประมง วงเงินรวม 2,967.50 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 1,075,000 ครัวเรือน โดยในภาคประมงจะมี 2 โครงการหลักๆ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง: การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดินวงเงิน 221 ล้านบาท โดยโครงการฯ จะสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจำนวน 44,311 ราย 2.โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน วงเงินงบประมาณ 430,800,000 บาท โดยโครงการฯ จะสนับสนุนพันธุ์กุ้งก้ามกรามปล่อยลงแหล่งน้ำชุมชนจำนวน 1,436 แหล่ง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรโดยรอบแหล่งน้ำหันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลและมีศักยภาพในการเจริญเติบโตให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วเพียงแค่ 4-6 เดือนเท่านั้น เหมาะสมต่อการส่งเสริมให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการฯ มีเป้าหมายดำเนินการในแหล่งน้ำชุมชน จำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ตราด นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย อำนาจเจริญ อุดรธานี และ อุบลราชธานี ซึ่งจะดำเนินการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามทั้งหมด 287,200,000 ตัว โดยจะทยอยปล่อยกุ้งก้ามกรามขนาด 5–7 ซม.ขึ้นไป ซึ่งเป็นขนาดที่มีอัตราการรอดสูงลงในแหล่งน้ำเป้าหมายแห่งละ 200,000 ตัวพร้อมกับอาหารกุ้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย จำนวน 1,436 กระสอบ ซึ่งจะมอบให้เป็นเป็นต้นทุนอาหารสัตว์น้ำแหล่งน้ำละ 1 กระสอบ ด้านการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามภายใต้โครงการฯ อันดับแรกทุกแหล่งน้ำจะต้องมีการจัดตั้งกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อประสานความร่วมมือในระดับท้องถิ่น พร้อมขับเคลื่อนโครงการในทุกขั้นตอนร่วมไปกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ทั้งด้านการเตรียมความพร้อมให้กับแหล่งน้ำ ได้แก่ การลดจำนวนปลาขนาดใหญ่และกินเนื้อ การสร้างที่หลบซ่อนรวมทั้งการสร้างอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำ การกำหนดกติกาการจับสัตว์น้ำของชุมชน การสนับสนุนข้อมูลเพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการทั้งในเรื่องของจำนวนและการวิเคราะห์ผลผลิตสัตว์น้ำ ฯลฯ และเมื่อกรมประมงดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตกรมประมงจะเข้าไปร่วมวางแผนการตลาดโดยจะยึดนโยบาย ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำในเรื่อง “การตลาดนำการผลิต” ที่มุ่งเน้นการวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการตลาด เกษตรกรจะต้องไม่ใช่เพียงผลิตสัตว์น้ำได้แต่จะเรียนรู้วิธีการขายและต้องขายได้ มีช่องทางการตลาดที่เหมาะสมเพื่อที่จะสร้างเป็นอาชีพให้พึ่งพิงได้อย่างยั่งยืน สำหรับเปิดตัวโครงการฯ การจัดงานครั้งนี้ กรมประมง จะดำเนินการปล่อยกุ้งก้ามกรามจำนวน 1 ล้านตัว พร้อมกันในพื้นที่ 5 จังหวัด ดังนี้ 1.แหล่งน้ำหนองผือ ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร 2.บึงอ้ายจ๋อ ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร 3.แหล่งน้ำหนองหัวลิง ต.หนองแวง อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร 4.หนองกุง ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และ5.อ่างเก็บน้ำห้วยวังแดง ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางหลักในการส่งสัญญาณในการปล่อยฯ ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกันทั้ง 5 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านการประมง และนิทรรศการเกี่ยวกับนวัตกรรมการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาประเมินผล ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมงของชุมชนในพื้นที่ สำหรับแหล่งน้ำในพื้นที่อื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการนั้น ทางกรมประมงจะเร่งติดตามความพร้อมของสถานที่และดำเนินการปล่อยกุ้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร "ถึงแม้ปัญหาภัยธรรมชาติจะเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็พร้อมยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรในทุกปัญหา โครงการดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่มุ่งหวังที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการช่วยกันดูแล รักษา สร้างแหล่งน้ำให้มีชีวิต อันจะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนโดยรอบแหล่งน้ำมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถใช้แหล่งน้ำเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"อธิบดีกรมประมง กล่าว