นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ค​"บรรยง​ วิทยวีรศักดิ์" แนะนำให้ประชาชนตั้งการ์ดสูงขึ้นในภาวะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด พร้อมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่​ และการปิดประเทศ โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่ระบุในโพสต์ว่า โควิด-19​ อัพเดทมุมมองใหม่ของ"บรรยง วิทยวีรศักดิ์" ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ประมาณ 30-50 คนต่อวัน ซึ่งเกินความคาดหมายของผม เดิมที ผู้คนไม่รู้จักโรคนี้กันเท่าไร ปัจจุบันข้อมูลที่ถูกต้องได้ส่งต่อไปยังพวกเราผ่านทางไลน์และเฟสบุ๊คจำนวนมาก ในด้านหนึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจโรคนี้มากขึ้น รู้ว่าสถานที่ใดต้องระวัง สถานที่ใดมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่มองว่าโรคนี้ไม่น่ากลัว เพราะไม่ถึงตาย ได้มีการใช้ชีวิตในสถานที่เสี่ยงสูงโดยที่คาดไม่ถึง ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคจำนวนมาก วันนี้จะขอให้มุมมองต่อภาวะที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1. โรคไม่ร้ายแรงแต่ผลลัพธ์ทางสังคมรุนแรง ตอนนี้คนส่วนใหญ่รู้จักโรคโควิด-19 กันมากขึ้น ถ้าคุณเป็นคนที่อายุไม่ถึง 60 ปีและไม่มีโรคประจำตัว โอกาสที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตมีน้อยมากๆ แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะหากติดเชื้อ ผลลัพธ์ทางสังคมที่คุณจะได้รับรุนแรงมาก กล่าวคือ 1.1 คุณจะกลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจขึ้นมาทันที ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ถึงแม้จะรักษาหายแล้วก็ตาม ผู้คนก็ยังไม่วางใจ 1.2 คุณจะเป็นผู้นำเชื้อนี้มาให้คนในครอบครัวโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวด้านปอดและหัวใจ ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้มาก 1.3 คุณอาจไม่สามารถหาห้องรักษาพยาบาลจากรัฐบาลได้ เนื่องจากตอนนี้ โรงพยาบาลของรัฐเริ่มมีห้องควบคุมโรคนี้โดยเฉพาะในจำนวนจำกัด ทำให้คุณต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่ารักษาระดับแสนบาทขึ้นไป 1.4 คนในครอบครัวจะเดือดร้อน จากการที่ต้องกังวลใจตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาประมาณ 17 วัน (จากค่าเฉลี่ยการรักษาในประเทศจีน) นอกจากนี้คนในครอบครัวยังเป็นที่รังเกียจ เนื่องจากชาวบ้านหวั่นว่าเขาจะเป็นพาหะนำเชื้ออีกด้วย 2. การติดเชื้อชุดใหญ่มักเกิดขึ้นในห้องแอร์ หากเราสังเกตการติดเชื้อชุดใหญ่ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการติดเชื้อไปสู่คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในห้องแอร์ที่มีอากาศเย็นและมีคนแออัด เช่น ผับบาร์ หรือสนามมวย ซึ่งเดี๋ยวนี้สนามมวยชื่อดังเหล่านี้ล้วนติดแอร์กันหมดแล้ว ลองนึกภาพผู้คนเบียดเสียดยัดเยียด แล้วต่างคนต่างก็ตะโกนส่งเสียงเชียร์กัน ละอองนำ้ลายที่ฟุ้งไปในอากาศ รวมทั้งอาจมีการพนันขันต่อแลกเปลี่ยนโพยกัน ทำให้มีการติดเชื้อทางสัมผัสด้วย และถ้าเราได้มีโอกาสไปแถวนั้นจะพบว่ามีฝรั่งเข้าแถวกันซื้อบัตรเพื่อชมมวยไทยขนานแท้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเขาจะเป็นหนึ่งในผู้แพร่เชื้อหรือไม่ ที่เขียนเรื่องนี้เพื่อเน้นย้ำว่าในที่โปร่ง ร้อน โอกาสติดเชื้อจะมีน้อยกว่ามาก (ตอนนี้ใครที่ทานอาหารร้านโปร่งๆไม่ติดแอร์ จะสบายใจกว่าร้านที่ติดแอร์มาก) 3. ควรใส่หน้ากากหรือไม่ สำหรับพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อแล้ว เนื่องจากเราไม่รู้ว่ามีการติดต่อไปถึงใครแล้วบ้าง การใส่หน้ากากอนามัยย่อมปลอดภัยและสบายใจกว่า ทั้งยังต้องหมั่นล้างมือด้วย แต่สำหรับในต่างจังหวัดและอำเภอห่างไกลที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปน้อยหรือไม่ไปเลย ยังถือว่ามีความปลอดภัยอยู่ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในที่โปร่งโล่ง เช่น สวนสาธารณะ ถนน หรือในหมู่บ้าน ยังไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่ถ้าเราไม่สบายใจ ก็สามารถใส่หน้ากากผ้าได้ โดยเราต้องคอยติดตามข่าวสาร ว่ามีผู้ติดเชื้อในจังหวัดแล้วหรือไม่ ถ้ามี การเข้าไปในสถานที่แออัดและติดแอร์ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือควรหลีกเลี่ยง หากจำเป็นควรใส่หน้ากากป้องกันไว้ 4. ควรเลือกแนวทางภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่ ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) หมายถึง การที่ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนมีภูมิคุ้มกันโรคนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ(หลังจากป่วยแล้ว) หรือจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรค เมื่อมีจำนวนมากพอ จะทำให้เชื้อไวรัสนั้นไม่สามารถแพร่กระจายได้ เนื่องจากมีคนที่มีภูมิคุ้มกันเป็นกันชนอยู่ เมื่อเชื้อไม่สามารถส่งต่อไปยังคนส่วนน้อยที่อ่อนแอและยังไม่มีภูมิ ทำให้คนติดเชื้อใหม่ค่อยๆลดจำนวนลงและสูญหายไปในที่สุด การแก้ปัญหาในระยะยาวคือทำให้ชุมชนหรือประเทศมีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เราจะเสนอให้คนเจ็บป่วยกันเยอะๆ แล้วสร้างภูมิขึ้นมา คงไม่ใช่เรื่องดี เพราะอาจมีผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวติดเชื้อและเสียชีวิตไปด้วย ทางที่เหลืออยู่คือ ประคองสถานการณ์ ทำให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด แล้วรอวัคซีน ซึ่งเชื่อว่า ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะผลิตขึ้นมาได้ เมื่อฉีดให้คนส่วนใหญ่ เชื้อไวรัสนี้เมื่อแพร่กระจายไม่ได้ มันจะล่าถอยไปเอง 5. จะมีการระบาดแบบเกาหลี อิตาลีหรืออิหร่านหรือไม่ ผมยังมีความเชื่อว่า ในประเทศไทยจะไม่มีการระบาดในชุมชนมากเท่าประเทศเหล่านั้น เนื่องจากโรคนี้เป็นเชื้อเมืองหนาว จะกระจายตัวไม่ดีในอากาศร้อน การติดเชื้อชุดใหญ่ที่ผ่านมา เกิดในห้องแอร์ที่มีคนแออัด จากนั้นก็ไปแพร่ให้คนใกล้ชิด(อาจจะพักอาศัยในห้องแอร์) แต่ยังไม่พบว่ามีแพร่เชื้อในที่ชุมชนในที่สาธารณะของไทย และถ้าทุกคนช่วยกันให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล เราน่าจะลดจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ 6. ควรปิดประเทศหรือไม่ การปิดประเทศเป็นมาตรการสูงสุด ซึ่งประเทศเรามีความพร้อมเพราะเราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก แต่มันยังมีมิติที่จะต้องพิจารณาอีกสองเรื่องคือ เมื่อเราปิดประเทศจนสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้แล้ว เมื่อครบกำหนด ก็ต้องเริ่มต้นป้องกันกันใหม่เพราะมีชาวต่างชาติเข้ามาใหม่ ไม่รู้ว่าจะต้องปิดประเทศอีกกี่ครั้งกว่าปัญหาจะจบเบ็ดเสร็จ หรือจนกว่าจะคิดค้นวัคซีนได้ อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ที่จะต้องพิจารณาเพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคและอาจเป็นศูนย์กลางของอีกหลายเรื่อง รัฐบาลมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน คงจะพิจารณาหาข้อยุติที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เราน่าจะปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นดีที่สุด เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผมตั้งคำถามหลายเรื่องกับรัฐบาล. เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งเรื่องอากาศร้อนที่ควรจะช่วยชะลอการระบาดของโรคนี้ ต่อมามีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านทยอยออกมาให้ความรู้กับประชาชน ทำให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ถึงแม้บางเรื่องจะไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเชื้อตัวนี้เป็นโรคใหม่ที่เราไม่สามารถทดลองวิจัยได้ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด จึงใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาจากต่างประเทศ แต่ก็ทำให้ประชาชนมีแนวทางที่แน่นอนในการรับมือกับมัน จากตัวเลขผู้ป่วยที่ทะยานขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐบาลได้เร่งกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวกันในเรื่องนี้ ผมจึงคิดว่าสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ พวกเราควรตั้งการ์ดสูงขึ้น ลดการเดินทางไปในที่สาธารณะ ใส่หน้ากากเมื่ออยู่กับผู้อื่น และหมั่นล้างมือก่อนทานอาหารหรือสัมผัสใบหน้า ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล อดทนรอให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน หนทางข้างหน้าอีกยาวไกล พยายามประคองตัวให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ ข้อมูลอ้างอิง https://www.naewna.com/likesara/479988 https://www.businessinsider.com/coronavirus-covid19-day-by-day-symptoms-... https://en.wikipedia.org/wiki/Herd_immunity https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6224126/ https://www.nih.gov/news-events/news-releases/nih-clinical-trial-investi...