เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21-23 มีนาคม 2563)" หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มีคลื่นอากาศในกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ส่งผลทำให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น นั้น (มีผลกระทบกับพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระยอง นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา) กรมชลประทาน จึงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์น้ำได้ทันที บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา หากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ฝนตกลงมายังพื้นที่ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ก็จะส่งผลดีในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก รวมทั้งปริมาณน้ำท่าในสายหลักต่างๆด้วย แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัดและปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย จะติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างให้เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกัก พร้อมทั้งแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่แล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา