การยางแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอ ครม. เห็นชอบ จัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางอัตราคงที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม มั่นใจจะชี้นำราคายางในตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพราคายางให้มีความมั่นคง และจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนพัฒนายางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้มากขึ้น ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการสินค้าเกษตร 5 ชนิด ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการหารือประเด็นการรักษาระดับราคาให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งสินค้าเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักของประเทศ ภาครัฐจึงได้มีการวางยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา พืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ จะมุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้มากยิ่งขึ้น และรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศให้มากที่สุด ดังนั้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยาง จึงต้องมีความสอดคล้อง เหมาะสมกับภารกิจและวัตถุประสงค์ ตามที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 อนุมัติเห็นชอบให้นำรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกในอัตราคงที่กิโลกรัมละ 2 บาท เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การชำระค่าธรรมเนียมในการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดเรื่องราคายางภายในประเทศ ทำให้ราคายางไม่มีเสถียรภาพ มีการแกว่งตัวไปมา เพราะการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมแบบก้าวหน้าจะต้องมีการปรับทุก 15 วัน ตามราคาตลาด ฉะนั้น หากจะสร้างเสถียรภาพราคายาง การบริหารจัดการเรื่องต้นทุน จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ กยท.เล็งเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ในการชี้นำระดับราคาให้มีเสถียรภาพในกรอบราคายางกิโลกรัมละ 70-80 บาท ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมเรื่องราคายางให้แก่เกษตรกร ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกยางพารา จะได้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงและมีความมั่นใจต่อการเสนอราคาซื้อขาย โดยเฉพาะการซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นรูปแบบการซื้อขายที่ผู้ประกอบกิจการยางของไทยส่วนมากอยู่ในตลาดนี้ รวมทั้ง สามารถวิเคราะห์คำนวณการชำระค่าธรรมเนียมได้ทันที ลดความยุ่งยากในการยื่นเอกสารการส่งออก การขอคืนเงินหรือเพิ่มเงินด้วย และสิ่งสำคัญ จะเป็นการลดปัญหาการเก็งกำไร และการกดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรด้วย ดร.ธีธัช กล่าวอีกว่า หากมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราคงที่ จะทำให้สามารถคำนวณด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน ส่งเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางผ่านกองทุนพัฒนายางพารา และประมาณการรายได้ขององค์กรได้อย่างชัดเจน เช่นในปี 2560 คาดปริมาณการส่งออกยาง 3,723 ตัน จะเก็บค่าธรรมเนียมได้ 7,446 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราก้าวหน้าในปี 2559 ปริมาณส่งออก 3,970 ตัน เก็บค่าธรรมเนียมได้ 5,560 ล้านบาท ซึ่งพบว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราคงที่สามารถเก็บได้มากกว่าแม้ว่าปริมาณส่งออกลดน้อยลง ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางจะมั่นใจได้ว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราคงที่จะไม่เป็นการสร้างภาระให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบกิจการยาง แต่จะสามารถสร้างรายได้จากการจัดเก็บเพื่อเข้ากองทุนได้มากขึ้น