วันที่ 20 มี.ค.63 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า...“การส่งออกต่างประเทศซึ่งหน้ากากอนามัย 5.6 ล้านชิ้นแสดงถึง ‘การขาดความรับผิดชอบ’ ในการป้องกันโรคติดต่ออันตราย ไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล” ตามที่ศุลกากรแหลมฉบัง ได้ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 พบหน้ากากอนามัย จำนวน 5.6 ล้านชิ้น ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ แบบธรรมดา แบบทางการแพทย์ และแบบพรีเมี่ยม ทั้งที่ มติ ครม. เพิ่งเห็นชอบให้ประกาศ “หน้ากากอนามัย” เป็นสินค้าควบคุม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ออกตาม พ.ร.บ.ราคาและบริการ พ.ศ.2562 และในคำประกาศดังกล่าวไม่มีการยกเว้นกับผู้ได้รับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร แหลมฉบัง สรุปว่า “เป็นการส่งออกที่ถูกกฎหมาย”เพราะได้สิทธิการส่งออกว่าเป็นเรื่องของ บีโอไอ ทั้งหมด จึงอนุญาตให้ส่งออกไปนั้น เห็นว่าการใช้ดุลยพินิจดังกล่าวมีประเด็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมายและเหตุผล หรือไม่ ? ยึดประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเพียงใด ? เพราะแม้แต่กฎหมาย บีโอไอ เอง ตามมาตรา 47 ที่บัญญัติว่า “ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักรได้เสมอไปซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตที่ได้จากการได้รับการส่งเสริมการลงทุน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่งคงของประเทศ” ซึ่งบทบัญญัติข้างต้น “ในกรณีจำเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่งคงของประเทศ” มีข้อยกเว้นไม่ต้องส่งออกนอกราชอาณาจักรได้ ประกาศสินค้าควบคุมที่มีศักดิ์มาจากพระราชบัญญัติจะต้องนำมาใช้บังคับในกรณีนี้อย่างเคร่งครัด เพราะในเรื่องของ “หน้ากากอนามัย” ได้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงจากโรคติดต่ออันตราย ที่กระทบความเป็นความตายของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งกฎหมาย บีโอไอ ได้กำหนดข้อยกเว้นไม่ให้ส่งออกได้แม้จะได้รับอนุญาตอยู่ก่อน แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นดังกล่าว (ตั้งแต่ วันที่ 4 ก.พ. 2563 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสินค้าควบคุม) เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องงดเว้นไม่อนุญาตให้ส่งออกได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 47 ดังกล่าว. และคณะกรรมการฯ ยังสามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อความจำเป็นของประเทศได้ โดยมีบทกำหนดโทษถ้าผู้รับบัตรส่งเสริมบีโอไอ.ฝ่าฝืน คณะกรรมการฯ สามารถเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ได้ด้วย การปล่อยให้มีการส่งออก“หน้ากากอนามัย” ที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนเป็นประจักษ์ทั่วไปว่าหน้ากากอนามัย จำนวน 5.6 ล้านชิ้นได้ถูกส่งไปต่างประเทศ ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศขาดแคลน และมีความต้องการหน้ากากอนามัยอย่างมากเพื่อที่จะมีไว้ใช้ในการป้องกันภัยอันตรายจากโรคติดต่อให้ทันกับเวลาและสถานการณ์ ซึ่งคุณค่าของหน้ากากอนามัยจะมีมากเมื่อนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาเริ่มต้นที่สามารถป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เรียกว่า ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ คณะกรรมการ บีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการอีก 12 คน ที่ล้วนแล้วแต่ถูกแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น มีอำนาจและหน้าที่พิเศษแบบเบ็ดเสร็จ ที่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการให้ผลิต จำหน่าย ส่งออกและห้ามส่งออก ในเมื่อเกิดไวรัส โควิด-19 ที่เป็นโรคติดต่ออันตรายต่อคนไทยและนานาชาติ ต้องยอมรับว่าความหายนะของสังคมและประเทศชาตินั้นมักเกิดจากการขาดภาวะการเป็นผู้นำและขาดความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน และจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันตรวจสอบ ไม่ควรปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยขาดภาวะผู้นำและขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนอีกต่อไป