อธิบดีกรมชลฯ ชี้ พายุฤดูร้อนทำน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ 123 ล้านลบ.ม. ด้านอธิบดีกรมอุตุฯ ระบุได้ฝนเกินคาดหมายเดือนมี.ค. มีพายุฤดูร้อนถึง 3 ลูก เผยเดือนส.ค. พายุเข้าไทย 1-2 ลูก เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ว่าช่วงเดือนมี.ค. มีฝนตกจากพายุฤดูร้อน ช่วยสถานการณ์ภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศกว่า 123 ล้านลบ.ม. รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์มีพายุฤดูร้อนทำให้ฝนตกฟ้าคะนอง เกือบทุกภาคในช่วงวันที่20-23มี.ค.และประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนพ.ค. ซึ่งจะเพิ่มปริมาณน้ำฝนมาเติมเขื่อนด้วย ทั้งนี้อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.อีกด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเม.ย.นี้ แม้มีฝนตกอาจยังน้อย จึงได้เสนอขออนุมัติ กนช. ผันน้ำจากลุ่มแม่กลอง เพิ่มอีก500ล้านลบ.ม. รวมเป็น1 พันล้านลบ.ม.โดยไม่กระทบกับการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มแม่กลอง เพื่อมาเสริมลุ่มน้ำเจ้าพระยา รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และเพื่อการเกษตร จนถึงวันที่ 30 เม.ย. จากเดิมได้ขอผันมา 850 ล้านลบ.ม. ระหว่างเดือนพ.ย.62จนสิ้นสุดฤดูแล้ง เม.ย.63 แต่ปริมาณน้ำหายระหว่างทางไปกว่า 185 ล้านลบ.ม.ในเส้นทางน้ำผ่าน ปัจจุบันปริมาณน้ำทั่วประเทศในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำรวมกัน 39,495 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 15,775 ล้านลบ.ม.ในส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักฯ มีน้ำรวมกัน 9,536 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 39 เป็นน้ำใช้การได้ 2,840 ล้านลบ.ม. ซึ่งผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ใช้น้ำไปแล้ว 13,006 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 73 ส่วนลุ่มเจ้าพระยา ใช้น้ำไปแล้ว 3,509 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ ได้ประเมินสถานกาณ์ว่า วันที่ 1 พ.ค. ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำใช้การได้ 2,072 ล้านลบ.ม. และได้เตรียมรับมือไว้กรณีเกิดวิกฤติสุด หากมีฝนน้อย ภาวะฝนทิ้งช่วงโดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงเดือนพ.ค. -ก.ค.ปริมาณ 1,656 ล้านลบ.ม.จะเหลือน้ำ 421 ล้านลบ.ม. จัดส่งน้ำ 310 ล้านลบ.ม. ให้พื้นที่ลุ่มบางระกำกว่า 2.6แสนไร่ ได้ปลูกข้าวก่อน วันที่ 1 เม.ย. เพื่อหลีกอุทกภัยช่วงฤดูน้ำหลากเดือนก.ย. ทำให้ 4เขื่อนเหลือน้ำ 111 ล้านลบ.ม. ดังนั้นจึงไม่สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำ12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ได้ปลูกข้าวก่อนเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถปลูกได้เมื่อมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ด้านนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากคาดการณ์ปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ 5-10% แต่กลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค. จนถึงปัจจุบัน มีพายุฤดูร้อนเข้ามาถึง3ลูกแล้ว ซึ่งเกินความคาดหมายโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ได้น้ำฝนไปมาก โดยช่วงวันที่ 20-23 มี.ค.มีฝนตกมากขึ้นในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และขณะนี้ปริมาณฝนตกเฉลี่ยเกินกว่าค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ รวมทั้งคาดว่าช่วงเดือนส.ค.จะมีพายุเข้าไทย 1-2 ลูก