หวั่นประกาศ อช.ห้ามชาวบ้านเข้าป่ากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เดือดร้อนทั้งเมือง ชี้ 242 หมู่บ้านในเขตป่าอนุรักษ์ จ.แม่ฮ่องสอนเดือดร้อนแน่ แกนนำกะเหรี่ยงชี้นโยบายไม่เป็นธรรม-ซ้ำเติมคนชายขอบ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.63 นายบุญยืน คงเพชรศักดิ์ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อุทยานแห่งชาติ (อช.)หลายแห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านและออกประกาศห้ามชาวบ้านเข้าเขตอุทยานฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม-30 เมษายน 2563 โดยอ้างเหตุไฟป่า ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย หรือเก็บของป่าตามฤดูกาล ได้ว่า ประกาศเพิ่งออกมาเมื่อวานนี้ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านลำบากยิ่งขึ้น โดยเข้าใจว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นนโยบายจากส่วนกลางซึ่งเข้างวดเรื่องการเผาป่า นายบุญยืนกล่าวว่า ชาวบ้านแม่ฮ่องสอนกว่า 242 ชุมชน อยู่ในอช. คำสั่งดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการเดินทางเข้า-ออก หมู่บ้าน ซึ่งจริงๆไม่น่าห้าม การอ้างเรื่องไฟป่าและโทษชาวบ้านนั้น เป็นการไม่เข้าไม่เข้าใจข้อเท็จจริง และมีทัศนคติในมุมลบต่อชาวบ้านโดยกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นคนเผาป่า หาของป่า ซึ่งไม่ถูกต้องและเป็นการกล่าวโทษชาวบ้านเกินไป เพราะทุกวันนี้ไม่มีชาวบ้านเผาป่า เพียงแต่ทำไร่ ดังนั้นควรไปศึกษาข้อเท็จจริงว่าไฟไหม้ป่าจากไหน และเรื่องหมอกควันต้องคิดใหม่ เพราะไฟไหม้มีประโยชน์ก็มี เช่น ป่าเต็งรัง ซึ่งมีงานวิจัยชีชัดว่าเป็นประโยชน์ หากเผาโดยการจัดการที่ถูกต้องตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านเพราะเป็นการกำจัดเชื้อเพลิง “ทุกวันนี้นักวิชาการเข้าใจอย่างหนึ่ง นักธุรกิจเข้าใจอย่างหนึ่ง ข้าราชการการคิดอย่างหนึ่ง และชาวบ้านคิดอีกอย่างหนึ่ง เราควรหาสาเหตุที่ทีแท้จริง การชิงเผาทุกปีของชาวบ้านนั้น ช่วยลดเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูกาล ถ้าเชื้อเพลิงสะสมหลายปีหากปล่อยไปจะเกิดไฟไหม้รุนแรง เราต้องแยกระหว่างไฟกับควันด้วย ทุกวันนี้เรามีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน จะไปลดที่เดียวเลยคงยาก เราต้องดูสาเหตุควันเกิดจากอะไร ไฟที่ชาวบ้านเผาไร่ไม่ค่อยมีควันเพราะการเผาไหม้สมบูรณ์ “ นายกสมาคมฯกล่าวว่า ที่เชื่อว่าประกาศของอุทยานฯ ครั้งนี้เป็นนโยบายของส่วนกลาง เพราะตนเคยเข้าร่วมประชุมในระดับจังหวัด ซึ่งมีข้อสรุปว่า เมื่อปีที่แล้วเข้มงวดเกินไป บางช่วงนายกรัฐมนตรีเดินทางมา จ.เชียงใหม่ ถึงขนาดห้ามกำนัน-ผู้ใหญ่ออกจากหมู่บ้านเพื่อให้เฝ้าพื้นที่ตลอดเวลา ซึ่งในปีนี่เราคุยว่าไม่ควรมีมาตรการลักษณะนั้นออกมาอีก และควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเผาไร่ในช่วงระยะเวลาที่จังหวัดกำหนด โดยมีการควบคุมและแผนการเผา “ผมได้เสนอในที่ประชุมก่อนถึงฤดูแล้งให้กำจัดขอนไม้ที่ล้มอยู่ในป่า เพราะขอนไม้เหล่านี้แม้ไฟดับแล้ว แต่ไฟยังคุกรุ่นและมีควันอยู่ตลอดเวลา หากกำจัดขอนไม้ออกก่อนจะช่วยลดควันได้เยอะ ตอนนี้บางพื้นที่ไม่มีไฟไหม้แล้ว แต่ยังมีควันจากขอนไม้ที่ถูกไหม้มาเป็นสัปดาห์” นายบุญยืน กล่าว นายบุญยืนกล่าวว่า ชาวบ้านใน 242 ชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่กลับอุทยานฯกลับออกประกาศห้ามพวกเขาเข้าป่าทั้งๆที่เขาอยู่ในป่าและ ไม่ใช้เพิ่งอยู่ แต่อยู่กันมานานแล้วโดยทำมาหากินแบบเศรษฐกิจพอเพียงเลยเหลือพื้นที่ป่าเยอะ ทำให้ทางการประกาศเขตป่าสงวนฯ เขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ได้กันพื้นที่ของชาวบ้านออกก่อน ซึ่งหมู่บ้านจำนวนมากมีหลักฐานว่าตั้งมานานแล้ว หากไม่เชื่อไปดูได้ที่กรมการปกครองที่จ่ายเงินเดือนให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมานาน แล้วจะให้เขาไปอยู่ไหน ความจริงกฎหมายต้องกันพื้นที่ให้พวกเขา แต่กลับประกาศทับทำเกิดปัญหาแบบนี้ “มีอาหารหลายอย่างที่ชาวบ้านต้องอาศัยป่า ถ้าไม่ให้เขาเข้าไปเก็บของป่า เขาจะเอาอะไรกิน ยิ่งหน้าแล้ง ผักหลายอย่าง เช่น ผักหวาน ถ้าห้ามเขาเข้าลำบากแน่ เพราะรัฐดันไปตั้งสมมุติฐานว่าชาวบ้านเผาป่า เป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง ชาวบ้านเขาจะเผาทำไม รัฐควรเปลี่ยนทัศนะใหม่ ชาวบ้านเขาน้อยใจ พอเกิดไฟป่าก็ให้ชาวบ้านช่วยกันดับเพราะชาวบ้านชำนาญพื้นที่และดับไฟได้เก่งกว่าเจ้าหน้าที่ แต่พอตอนนี้กลับห้ามเขาหากินในป่า” นายบุญยืน กล่าว นายพฤ โอ่โดเชา แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่ากรณีเป็นห่วงเรื่องไฟป่าและมักโทษชาวบ้านนั้นข้อเท็จจริงคือชาวบ้านที่อยู่กับป่าได้ร่วมกันทำแนวกันไฟและตรวจสอบป้องกันไฟป่าดับไฟป่าที่ลามเข้ามาในเขตป่าชุมชนมานานแล้ว และหากเกิดไฟป่าไหม้ป่าขึ้นมาจริงๆ ชาวบ้านจะรวมกันไปดับไฟ แต่ไฟป่าที่เกิดในเขตป่าที่ชุมชนไม่เข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่างหาก เมื่อเกิดไฟป่าลุกไหม้แล้วไม่มีการดับไฟได้อย่างแท้จริง ทำให้ไฟไหม้ทั้งกลางวันและกลางคืนหมดป่าหมดดอย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ แต่พอรัฐรับผิดชอบไม่ไหว เลยมาโทษชาวบ้าน เพื่อเอาตัวรอดซึ่งตนเห็นว่า เป็นการฉวยโอกาสที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน “มีความพยายามสร้างความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายกับชาวบ้าน ที่ไม่ประสีประสาและหาเช้ากินค่ำ พึ่งพิงธรรมชาติป่าของตัวเองเป็นแหล่งสุดท้ายในการประทังชีวิตให้อยู่รอด ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของสังคมไทย การออกกฎหมายกติกา ที่มาบังคับใช้ชาวบ้านอย่างนี้ถือเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมมากๆ ซ้ำเติมวิถีชีวิตชาวบ้านและคนชายขอบให้ล่มสลายหนักกว่าเดิม จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐยอมรับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริง” นายพฤ กล่าว นายพฤ กล่าวว่า ชุมชนที่ตนอยู่เป็นพื้นที่เตรียมประกาศเขต อช.ออบขาน ซึ่งชาวบ้านได้คัดค้านตลอดมาเนื่องบริเวณผืนป่าแม่น้ำลำธารเหล่านี้ ชาวบ้านไม่ได้จับจองแผ้วถางให้โล่งเตียนเป็นที่ทำกิน หากแต่เข้าไปใช้ประโยชน์ตลอดเวลาตามฤดูกาลที่ต่างกันไป เช่นหน้าแล้งไปหาปลา กบ เขียด เก็บพืชผักสองฝั่งริมแม่น้ำ และเป็นที่หลบร้อนดื่มน้ำของสัตว์เลี้ยง เช่นวัว ควาย ขณะเดียวกันชาวบ้านเราได้ทำแนวกันไฟรอบๆ หมู่บ้าน คอยดับไฟป่าที่ลามเข้ามาในเขต ป่าชุมชน ตามที่ชุมชนได้มีมติข้อตกร่วมกันไว้ ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าอ่านข่าวจดหมายและประกาศของอุทยานแห่งชาติที่อ้างปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว จึงห้ามชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวินเข้าพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ ทำให้เกิดตั้งคำถามว่า ชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกว่า 200 หมู่บ้านที่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์จะอยู่กันอย่างไร ซึ่งทุกคนทราบดีว่าช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายนเป็นช่วงที่ชาวกะเหรี่ยงฟันไร่เพื่อปลูกข้าวตามวิถีไร่ของเขา แม้ต้องจุดไฟแต่มีระบบกันไฟที่เขาใช้ปฏิบัติกันมาแต่บรรพบุรุษแล้ว ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ข้อมูลวิจัยหลายชิ้นบ่งชัดว่าพื้นที่ไฟไหม้และเกิด hotspot มักอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐเอง และพื้นที่รอยต่อระหว่างป่ากับชุมชน หรือระหว่างชุมชนกับชุมชน ซึ่งเป็น no-man land ไม่มีใครรับผิดชอบ ดังนั้นการออกประกาศหรือออกมาตรการที่ดูดีบนกระดาษแต่ปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะแล้งยาวนานกว่าปรกติ จึงต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษทวีคูณของทุกฝ่าย จึงจะป้องกันและจัดการไฟป่าได้สำเร็จ ที่สำคัญคือต้องแยกให้ออกว่าส่วนไหนเป็นไฟป่าซึ่งต้องป้องกันและแก้ไข ส่วนไหนเป็นไฟจากไร่หมุนเวียนที่ต้องควบคุมไม่ให้ลุกลาม ซึ่งชาวบ้านเขามีวิธีการของเขาอยู่แล้ว “คุยกันเถอะครับ เจ้าหน้าที่รัฐ เอาฝ่ายสังคมฝ่ายชุมชนและฝ่ายปกครองไปร่วมด้วยกับผู้นำชาวบ้าน ตั้งโต๊ะคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว สรุปให้ได้แนวคิดและวิธีปฏิบัติ ทำแผนปฏิบัติร่วมกัน ดีกว่าวิธีประกาศ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการเปิดสงครามกับประชาชน อย่าให้ความขัดแย้งขยายตัวไปทั่วทำนองน้ำผึ้งหยดเดียว แต่เดือดร้อนกันทั้งเมือง” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว