เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคเหนือว่ายอมรับว่า ตอนนี้เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5มีความอันตรายพอๆกับเชื้อโควิด-19 สำหรับสถานการณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ภาคเหนือในประเทศของเราลดลงไปพอสมควร แต่ปัญหาส่วนหนึ่งยังมีการเผาในประเทศเพื่อนบ้านโดยรัฐบาลไทยได้ทำหนังสือไปถึงเลขาธิการอาเซียนแล้วและทางอาเซียนได้แจ้งไปยังประเทศที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ ยอมรับว่าเมื่อเป็นเรื่องที่ข้ามประเทศก็มีความลำบากในพูดคุยเพราะเราเองก็ไม่ใช่ประเทศที่จะไปนั่งกดสั่งให้เขาทำตามได้ อยากฝากไปถึงประชาชนว่าอย่าดูในโลกโซเชียลมาก เพราะเรื่องต่างๆในโซเชียลมีความอันตรายกว่าโควิด-19หากนำไปใช้ไม่ถูกต้อง นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า 3วันนับจากนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเข้มงวดให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์และเร่งดับไฟในทุกพื้นที่พบจุดความร้อนในประเทศลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงอย่างชัดเจน แต่พื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนจากอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้ฝุ่นละอองยังอยู่ในระดับ มีผลกระทบต่อสุขภาพ สีแดง สำหรับ จ.แม่ฮ่องสอนได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนร่วมกับหมอกควันจากจุดความร้อนในพื้นที่ ยังคงพบจุดความร้อนจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้านนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือกับกระทรวงการต่างประเทศในการประสานงานช่องทางทางการทูต เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนว่าที่ผ่านมา ไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้หารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในทุกระดับ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึง ผู้นำของกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเมียนมาเพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมและจำกัดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดหมอกควันข้ามแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชายแดนระหว่างสองประเทศ ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5ในพื้นที่ภาคเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นรวม 27 สถานีพบค่าฝุ่นระหว่าง 31–127 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.)ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดี ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ พื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ พื้นที่วิกฤตสีแดงมี 2 สถานี คือ สถานี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 127มคก./ลบ.ม..,ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 114 มคก./ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ พื้นที่สีส้มมี 11สถานี ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา. ต.ในเวียง อ.เมือง ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.แม่ปะอ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม,ต.สุเทพ อ.เมือง,ประตูท่าแพ อ.เมือง,ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว., ต.ช้างเผือก อ.เมือง., ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ขณะที่ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 60 - 151 มคก./ลบ.ม. ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 120 มคก./ลบ.ม.มีค่าเกินมาตรฐาน 3 สถานี คือ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก สถานการณ์คุณภาพอากาศ ที่ จ.เชียงใหม่ยังแย่ต่อเนื่องมาเกือบสัปดาห์แล้ว ท้องฟ้าในตัวเมืองยังถูกปกคลุมด้วยหมอกควันไฟป่า เนื่องจากยังมีการลักลอบเผาในหลายพื้นที่ส่งผลให้ทัศนวิสัยการมองเห็นไม่ชัดเจน ประชาชนมีอาการแสบจมูก คันตา ช่วงเช้า ค่าฝุ่นPM 2.5ที่จ.เชียงใหม่ สูงสุดอยู่ ที่ อบต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว 253ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร รองลงมาเป็นบริเวณเทศบาลตำบลขี้เหล็ก อ.แม่ริม 169ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรและ พื้นที่ ต.วัดเกต ต.ช้างคลาน ต.ช้างม่อย อยู่ที่122 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เจ้าหน้าที่ต้องนำเครื่องบินขึ้นบิน โปรยละอองน้ำช่วยลดมลพิษ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซด์ airvisualที่มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วโลกยังพบว่าจ.เชียงใหม่ ติดอันดับ2คุณภาพอากาศแย่ รองจาก เมืองลาฮอร์ ปากีสถาน